ฝ่ายบริการที่ปรึกษา (Consultancy Service Department)
“ฝนตก น้ำท่วม รถติด” ปัญหาที่คนกรุงเทพฯ ต้องเผชิญ ยิ่งในฤดูฝนอย่างนี้ ฝนตกในแต่ละครั้งสร้างปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ อย่างหนักหน่วง เมื่อฝนตกก็จะมาพร้อมกับปัญหารถติด ยิ่งพื้นที่ไหนเกิดน้ำท่วมขัง เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามีมากจนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ก็ยิ่งสร้างความลำบากในการใช้ชีวิตให้กับคนกรุงเทพฯ
ซึ่งปัญหาน้ำท่วมขังนั้น ทราบกันดีว่ามีสาเหตุหนึ่งมาจากการที่ระบบระบายน้ำอย่างท่อระบายน้ำสาธารณะไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนที่รอระบายจำนวนมาก จนทำให้เกิดการท่วมขังบางพื้นที่ แน่นอนว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังนี้ ต้องแก้ไขที่ระบบระบายน้ำของกรุงเทพฯ ให้สามารถทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ของ กทม. ก็พยายามแก้ไขกันอยู่ โดยการแก้ปัญหาน้ำท่วม เรามุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาระบบระบายน้ำสาธารณะ แต่ท่านรู้หรือไม่ว่า เราสามารถแก้ปัญหา หรือช่วยลดภาระของระบบระบายน้ำสาธารณะได้ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบในการพัฒนาอสังหาฯ
ในภาคอสังหาฯ การพัฒนาโครงการโดยเฉพาะโครงการที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง เรื่องการจัดการน้ำในโครงการ เป็นหัวข้อที่ต้องคำนึกถึงตั้งแต่กระบวนการการออกแบบ การบริหารจัดการน้ำในโครงการไม่ได้เป็นเพียงเรื่องการบริหารการใช้น้ำในโครงการ แต่รวมไปถึงการจัดการน้ำเสียและน้ำฝนก่อนที่จะระบายไปสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะ ซึ่งการในออกแบบ หรือวางแผนการจัดการน้ำ มีทั้งที่ถูกกำหนดด้วยกฎหมายและออกแบบ เพื่อการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภายในโครงการเอง
ในทางกฎหมาย มีข้อกำหนดที่ว่าด้วย เรื่องการออกแบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับการระบายน้ำฝนโดยเฉพาะ เพื่อให้ปริมาณน้ำฝนที่ออกจากโครงการมีปริมาณที่เหมาะสม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ข้างเคียง หรือระบบระบายน้ำสาธารณะ แน่นอนว่าแต่ละโครงการต้องทำตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานในการออกแบบ และบริหารจัดการน้ำฝน แต่หากต้องการให้โครงการของท่านมีการบริหารจัดการน้ำฝนที่มีประสิทธิภาพขั้นสูงสุด จำเป็นต้องมีการกำหนดและวางแผนตั้งแต่กระบวนการออกแบบ
สำหรับน้ำฝนที่ตกลงมาภายในโครงการมีเส้นทางการไหลหลัก ๆ อยู่ 2 เส้นทาง คือ น้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ที่เป็นดิน หรือพื้นที่สีเขียว น้ำฝนจะสามารถไหลซึมลงไปสู่ชั้นดินได้ แต่น้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ดาดแข็งหรือพื้นที่ที่น้ำฝนไม่สามารถไหลซึมผ่านสู่ชั้นดินได้ เช่น พื้นถนน พื้นที่ดาดฟ้า พื้นคอนกรีต เป็นต้น น้ำฝนจะไหลลงสู่ระบบระบายน้ำภายในโครงการ ก่อนถูกส่งออกไปท่อระบายน้ำสาธารณะ จะเห็นได้ว่า การที่ภายในโครงการมีพื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่น้ำฝนสามารถไหลซึมผ่านได้ จะช่วยให้น้ำฝนซึมผ่านสู่ชั้นดินได้เลย เป็นการลดปริมาณน้ำฝนที่จะไหลเข้าสู่ระบบระบายน้ำ และลดปัญหาการเกิดน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่เมือง
การพัฒนาโครงการมีประเด็นสำคัญในการออกแบบและวางแผน เพื่อให้มีการบริหารจัดการน้ำฝนให้มีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน ดังนี้
1. “ พื้นที่สีเขียว ” ยิ่งเยอะยิ่งดี
จากที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น พื้นที่สีเขียว หรือพื้นที่ที่น้ำฝนสามารถซึมผ่านลงสู่ชั้นดินได้เลย ลดปริมาณน้ำฝนที่ต้องไหลเข้าระบบระบายน้ำของโครงการและลดภาระของท่อระบายน้ำสาธารณะ ตามกฎหมาย ถูกกำหนดสัดส่วนขั้นต่ำในการแบ่งพื้นที่ภายในโครงการด้วย FAR (Floor to Area Ratio) และ OSR (Open Space Ratio) หากต้องการให้โครงการมีพื้นที่สีเขียวที่เหมาะสมมากยิ่งขึ้น สามารถออกแบบโดยใช้เกณฑ์การออกแบบตามมาตรฐานอาคารเขียวได้ เช่น ในเกณฑ์การออกแบบตามมาตรฐาน LEED กำหนดให้ต้องมีพื้นที่ Open Space มากกว่า 30% ของพื้นที่โครงการ และในพื้นที่ Open Space นั้น ต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 25%
2. พื้นถนนและทางเท้า ใช้วัสดุปูพื้นผิวที่น้ำซึมผ่านได้
โดยปกติ พื้นถนนและทางเท้าจะเป็นพื้นคอนกรีตที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลไปรวมกันตามรางระบบระบายน้ำของโครงการ แต่ในปัจจุบัน มีนวัตกรรมด้านวัสดุปูพื้นผิวของพื้นที่ถนนหรือพื้นที่ดาดแข็ง ให้มีลักษณะเป็นรูพรุนและมีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ ดังนั้นในการเลือกใช้วัสดุปูพื้นผิวภายนอกอาคาร หากเปลี่ยนจากพื้นคอนกรีตหนาทึบ เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติให้น้ำซึมผ่านได้ จะช่วยเพิ่มพื้นที่ที่สามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นดิน และลดปริมาณน้ำในระบบระบายน้ำได้
3. ออกแบบพื้นที่สีเขียวในโครงการอย่างยั่งยืน
ด้วยการบูรณะการออกแบบพื้นที่สีเขียวกับหลักการการเชื่อมต่อและเสริมสร้าง Ecosystems หรือที่เรียกว่า โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางการออกแบบที่ช่วยในการบริหารจัดการน้ำและอนุรักษ์ระบบนิเวศในโครงการ
Opmerkingen