top of page

ตลาดที่อยู่อาศัยเปิดตัวสะสม 10 เดือนปี 2566 โครงการใหม่ หน่วยเปิดตัวลดลง 8% (YoY) แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น

Updated: May 15

Team : Research and Development

Contact : se.somluck@lpn.co.th ,ug.phailin@lpn.co.th, an.pornthip@lpn.co.th


สรุปตลาดอสังหาฯ ที่อยู่อาศัยเปิดตัวสะสม 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) 2566 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีจำนวนหน่วยเปิดตัวน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ลดลง 8% (YoY) แต่มูลค่าโครงการเพิ่มขึ้น 12% (YoY) เนื่องจากผู้ประกอบการเน้นการเปิดตัวโครงการในระดับพรีเมี่ยม ทั้งกลุ่มคอนโดมิเนียมและบ้านพักอาศัย


สรุปภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 10 เดือนแรกของปี (มกราคม-ตุลาคม) 2566 พบว่า มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 347 โครงการ มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลง 8% โดยมีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ ทั้งสิ้น 80,818 หน่วย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีจำนวนโครงการ 328 โครงการ จำนวนหน่วยเปิดตัวอยู่ที่ 87,633 หน่วย ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12% มีโดยมูลค่ารวมทั้งสิ้น 420,428 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 375,278 ล้านบาท โดยผู้ประกอบการให้ความสนใจเปิดโครงการพรีเมี่ยมที่ระดับราคาเกินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งกลุ่มคอนโดมิเนียมและบ้านพักอาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง

Source : LWS


การเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 เป็นการเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัยใหม่ทั้งสิ้น 74 โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัว 39,071 หน่วย ลดลง 13%(YoY) มูลค่า 127,037 เพิ่มขึ้น 8%(YoY) จากหน่วยเปิดตัวในปี 2565 ที่มีจำนวนโครงการ 80 โครงการ จำนวนหน่วยเปิดตัวที่ 44,797 หน่วย มูลค่า 117,491 ล้านบาท โดยมีการเปิดตัวคอนโดมิเนี่ยมระดับพรีเมี่ยมที่มีระดับราคาสูงทำเลใจกลางเมือง ดึงดูดกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูง ทำให้ภาพรวมมูลค่าการเปิดตัวเพิ่มขึ้น มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ย 26% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 30% สำหรับการเปิดตัวอาคารชุดสูงสุดในทำเลเปิดสะสมสูงสุดในเดือนตุลาคม อยู่ในทำเลใกล้สถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสายหลักของเมือง และขายได้ดีในระดับราคามากกว่า 3 ล้านบาท

Source : LWS


ในขณะที่การเปิดตัวโครงการในกลุ่มบ้านพักอาศัยในระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท สะสม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 มีจำนวน 185 โครงการ จำนวนหน่วยเปิดตัว 35,518 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 149,953 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวลดลง 6.02% และ 6.69% (YoY) เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มีจำนวนโครงการ 181 โครงการ จำนวนหน่วยเปิดตัวอยู่ที่ 37,796 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 160,706 ล้านบาท มีอัตราขายได้เฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 8% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2565 ที่มีอัตราขายได้เฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 12% ขณะที่ทาวน์เฮาส์ เปิดตัวมากที่สุดในช่วงราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท โดยอัตราขายได้เฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 9% มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงสุดในทำเล บางนา-ตราด (ช่วงกม.10-30) บ้านแฝดเปิดตัวมากที่สุดในช่วงราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงสุดในทำเล ปิ่นเกล้า ศาลายา โดยมีอัตราขายได้ ณ วันเปิดตัวเฉลี่ย 9% และบ้านเดี่ยวระดับราคา 5-10 ล้านบาท โดยทำเลที่มีการเปิดตัวสูงสุดได้แก่ ราชพฤกษ์ 346 มีอัตราการขายได้เฉลี่ย ณ วันเปิดตัวโครงการที่ 7% สำหรับราคาบ้านพักอาศัยขายเฉลี่ยอยู่ที่ 7.03 ล้านบาทต่อหน่วยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566

Source : LWS


สำหรับโครงการบ้านระดับพรีเมี่ยมที่ระดับราคาขายมากกว่า 10 ล้านบาทต่อหน่วย มีการเปิดตัวสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2566 จำนวน 88 โครงการ จำนวนหน่วยเปิดตัว 6,229 หน่วย เพิ่มขึ้น 5%(YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 ที่มีการเปิดตัว 67 โครงการ มีการเปิดตัวจำนวน 5,042 หน่วย และมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 30% รวม 143,438 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2565 ที่มีมูลค่า 97,083 ล้านบาทเป็นสาเหตุที่ทำให้มูลค่าตลาดที่อยู่อาศัยรวมเพิ่มขึ้น โดยเปิดตัวโครงการใหม่เป็นรูปแบบบ้านเดี่ยว คิดเป็นสัดส่วน 95% มีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ย 12% ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 19% และทำเลโครงการบ้านระดับพรีเมี่ยมเปิดตัวมากที่สุดในทำเลรังสิต คลอง 1-7 มีหน่วยเปิดขายมากและขายได้สะสมสูงสุดในระดับราคา 10-20 ล้านบาท

Source : LWS


ในขณะที่แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี มีแนวโน้มที่จะมีการเปิดตัวโครงการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาฯ ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยที่ยังคงมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงในปัจจุบันที่ 2.50% และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ที่ 90.6% ทำให้สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ มูลค่าอนุมัติ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ลดลง 6.62%(YoY) ในขณะที่คาดว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในระดับ 2-2.5% ผลจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของภาครัฐหลังจากไตรมาส 3 เศรษฐกิจเติบโตเพียง 1.5% ทำให้ 9 เดือนแรกมีอัตราการเติบโตที่ 1.9% และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือน อยู่ที่ 1.60% เป็นผลจากนโยบายลดราคาพลังงานและระดับราคาอาหารปรับตัวลดลงทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคม 2566 ติดลบ 0.31% เป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นต่อภาคอสังหาริมทรัพย์

32 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page