top of page

ตลาดอสังหาฯ ครึ่งแรกปี  67 หดตัวทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัวโครงการ  

Team : Research and Development

Contact : se.somluck@lpn.co.th ,ug.phailin@lpn.co.th, an.pornthip@lpn.co.th


ตลาดอสังหาริมทรัพย์พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ครึ่งแรกปี 2567 มีจำนวนหน่วยการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลง 28%(YoY) และมูลค่าลดลง 1%(YoY)  ผลจากการเปิดตัวโครงการทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัยชะลอตัวในไตรมาสสองของปี 2567 


บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) ระบุการเปิดตัวโครงการที่พักอาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลสะสมในช่วงไตรมาสสองของปี 2567 ปรับตัวลดลงทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่าการเปิดตัว ส่งผลให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลงทั้งในด้านของจำนวนและมูลค่าของโครงการที่เปิดใหม่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566  


โดยในเดือน มกราคม-มิถุนายน  2567 มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 182 โครงการ จำนวน 32,675 หน่วย ลดลง 28% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 45,162 หน่วย ในระยะเดียวกันของปี 2566  ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 201,517 ล้านบาท ลดลง 1% จากมูลค่าเปิดตัวโครงการ 203,016 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 16%  ลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยที่ 18% ในปี 2566   

Source : LWS


การเปิดตัวโครงการใหม่สะสมครึ่งแรก ปี 2567 เป็นส่วนของโครงการอาคารชุดพักอาศัย 33โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ 13,377 หน่วย ลดลง 45%  คิดเป็นมูลค่า 51,802 ล้านบาท ลดลง 24% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 24,167 หน่วย คิดเป็นมูลค่าเปิดตัว 68,561 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 28% เท่ากับอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวในระยะเดียวกันของปี 2566  โดยที่ราคาขายเฉลี่ยของอาคารชุดพักอาศัย ในครึ่งแรกของปี 2567 อยู่ที่ 3.87 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 36% จากราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 2.84 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2566 และมีหน่วยเปิดตัวสูงสุดในไตรมาสแรกปี 67 ในทำเล  รัชดาภิเษก, สุขสวัสดิ์, และ ย่านมหาวิทยาลัยรังสิต  เน้นกลุ่มนักลงทุน และ นักศึกษา 

Source : LWS


ในส่วนของการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทจำนวน 96 โครงการ จำนวน 15,642 หน่วยลดลง 15% คิดเป็นมูลค่า 68,823 ล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 ที่มีจำนวนหน่วยเปิดตัว 18,467 หน่วยและมูลค่า 63,317 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวโครงการที่ 8%  เพิ่มขึ้นจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 7% ของระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 4.39 ล้านบาทต่อหน่วยในครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 28.36% จากราคาขายเฉลี่ยที่ 3.42 ล้านบาทต่อหน่วย ในระยะเดียวกันของปี 2566 และเปิดตัวสูงสุดและขายได้ดีในทำเลอ้อมน้อย, ประชาอุทิศ-พุทธบูชา และ บางบัวทอง  โดยบ้านพักอาศัยประเภททาวน์เฮาส์ราคาไม่เกิน 2-3 ล้านบาท และ บ้านแฝด ราคา 3-5 ล้านบาท เป็นกลุ่มสินค้าที่ขายดี   

Source : LWS


และเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาเกิน 10 ล้านบาท จำนวน 53 โครงการ จำนวน 3,656 หน่วย เพิ่มขึ้น 44% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 2,538 หน่วยในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งแรกของปี 2567 ของบ้านพักอาศัยระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทที่ 80,892 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 37% จากมูลค่าการเปิดตัวโครงการที่ 59,045 ล้านบาทในปี 2566 มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ยที่ 9% เท่ากับอัตราการขายเฉลี่ยที่ 9% ในระยะเดียวกันของปี 2566  สำหรับบ้านเดี่ยว และ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ระดับราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่  22.7 ล้านบาท และ 13.8 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ บ้านแฝด มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ย 20% โดยมีระดับราคาเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 16.3 ล้านบาท โดยทำเลที่เปิดตัวและขายได้ดีอยู่ที่ บางนา, พระราม 2 และ คลองมหาสวัสดิ์  

Source : LWS


ในขณะที่แอล ดับเบิล ยู เอส คาดการณ์หน่วยคงค้างที่อยู่อาศัย ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เพิ่มขึ้น 0.6% ผลมาจากหน่วยคงค้างของที่อยู่อาศัยประเภทบ้านพักอาศัยเพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะที่ยอดคงค้างของอาคารชุดพักอาศัยลดลง 4.4% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ชะลอแผนเปิดตัวโครงการอาคารชุดพักอาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 แต่มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยใหม่เพิ่มขึ้น ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีจำนวนหน่วยคงค้างประเภทบ้านพักอาศัย 150,753 หน่วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 60 เดือน ในขณะที่มีจำนวนหน่วยคงค้างประเภทอาคารชุดพักอาศัย 80,507 หน่วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 24-36 เดือน 


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ยังคงเป็นเรื่องของ ภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90% อัตราดอกเบี้ยสูง ความเข้มงวดของสถาบันการเงินในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 70% รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่ชะลอตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้มีความไม่แน่ใจรายได้ในอนาคตของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลให้แนวโน้มของภาคอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งหลังของปี ผู้ประกอบการอสังหาฯ ยังคงต้องระมัดระวัง และเน้นการเปิดตัวโครงการที่เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเฉพาะ และ เร่งระบายสินค้าคงเหลือที่มีอยู่เพื่อเร่งเพิ่มกระแสเงินสด  

138 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page