top of page

ตลาดอสังหาฯ เดือน ม.ค. เปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 12%(YoY) มูลค่าลดลง 9%(YoY)

Updated: Feb 28, 2023

Team : Research Development


คาดตลาดที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ปี 2566 เติบโต 5-15%(YoY) ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีแนวโน้มทรงตัว โดยในเดือนมกราคม 2566 มีหน่วยเปิดตัวที่อยู่อาศัยใหม่เพิ่มขึ้น 12% (YoY) แต่มีมูลค่าลดลง 9% (YoY)


“ลุมพินี วิสดอมฯ” คาดแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2566 ทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย เติบโตอยู่ที่ 5-15%(YoY) ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ 3.2-4.2%


ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2566 มีแนวโน้มดีขึ้นโดยอัตราเงินเฟ้อเดือนมกราคม 2566 ต่ำสุดในรอบ 9 เดือนที่ 5.02% ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวต่ำกว่า 100 บาร์เรลต่อเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับเพิ่มขึ้น 0.25% เป็น 1.5% ยังตํ่ากว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ สหรัฐอเมริกาที่อยู่ที่ 4.50-4.75% อยู่ 3.00%-3.25% ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดในรอบ 44 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ยังคงสูงกว่า 50 ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศและการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว


ในขณะที่ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนมกราคม 2566 ยังคงปรับตัวสูงขึ้น 3.5% เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2565 และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-5% เมื่อเทียบกับปี 2565 ผลจากต้นทุนแรงงานต้นทุนการผลิตและราคาพลังงานที่ยังทรงตัวในระดับสูง


อย่างไรก็ตามในปี 2566 นอกจากความผันผวนของเศรษฐกิจไทย อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นต่อเนื่องผนวกกับราคาวัสดุก่อสร้างที่มีการปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบกับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ตาม แต่ในปี 2566 มีปัจจัยบวกที่สามารถกระตุ้นภาคอสังหาฯได้ดียิ่งขึ้น โดยอย่างยิ่งการเปิดประเทศของจีนที่จะทำให้มีการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนจากประเทศจีนเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคเอเซียรวมทั้งประเทศไทย ในขณะเดียวกันนโยบายของรัฐบาลสำหรับโครงการบ้านล้านหลังโดยสนับสนุนอัตราดอกเบี้ยสำหรับบ้านราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ที่อัตราดอกเบี้ย 3% เป็นระยะเวลา 5 ปี ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2566


จากการรวบรวมข้อมูลการโอนกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติจากกรมที่ดิน ในปี 2560-2564 พบว่ามีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของคนต่างชาติทั่วประเทศคิดเป็น สัดส่วน14-18% ต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2565 และปี 2566


ในขณะที่การเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่เดือนมกราคม ปี 2566 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 24 โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวโครงการใหม่จำนวน 8,329 หน่วย เพิ่มขึ้น 12% (YoY) แต่ มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 24,935 ล้านบาทลดลง 9%(YoY) มูลค่าที่ลดลงมาจากการเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม ที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีสัดส่วนสูงขึ้น


โดยแบ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ 10 โครงการ คิดเป็น 6,192 หน่วย เพิ่มขึ้น 10% (YoY) มูลค่า 13,750 ล้านบาท ลดลง 26% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 19%


ในขณะที่เป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัย จำนวน 14 โครงการ จำนวน 2,137 หน่วย เพิ่มขึ้น 18% (YoY) มูลค่า 11,185 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25%(YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2565 และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 6%


Source : LWS


Source : LWS


Source : LWS


โดยที่ทาวน์เฮาส์ ช่วงราคา 1-3 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงที่สุดของบ้านพักอาศัยประเภท ทาวน์เฮาส์ อัตราขายได้เฉลี่ย 4% เปิดตัวในทุกทำเลรอบกรุงเทพฯ เช่น รังสิต นวนคร และ บางนา ส่วนของบ้านแฝด ช่วงราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงสุดในบ้านพักอาศัยประเภทบ้านแฝด อัตราขายได้เฉลี่ย 12% เปิดตัวในทำเล รังสิต นวนคร และบางพูน


สำหรับตลาดบ้านเดี่ยวพบว่ามีการเปิดตัวโครงการใหม่ระดับ 5-10 ล้านบาท มีอัตราขายได้เฉลี่ย 5% เปิดตัวสะสมในทำเล จรัญสนิทวงศ์ ปิ่นเกล้า ราชพฤกษ์ และ ลาดกระบัง


เช่นเดียวกับโครงการบ้านระดับพรีเมี่ยม มีจำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวม 4,309 ล้านบาท รูปแบบบ้านเดี่ยว คิดเป็นสัดส่วน 92% โดยระดับราคา 10-20 ล้านบาทโดยเปิดตัวมากที่สุดในทําเลรอบ กรุงเทพฯ วัชรพล คู้บอน คลองสามวาและรามอินทรา ส่วนบ้านพรีเมี่ยมระดับราคา 20-30 ล้านบาท อยู่ในทําเล วัชรพล คู้บอน คลองสามวา และจรัญสนิทวงศ์-ปิ่นเกล้า


Source : LWS


Source : LWS


Source : LWS

158 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page