คุณสุภิญญาลักษณ์ จันทรวงศ์ ( BIM Consultant )
Contact : jg.supinyaluck@lpn.co.th
ในหลายปีที่ผ่านมา เชื่อว่าวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คุ้นเคยกับคำว่า “BIM หรือ Building Information Modeling” กันอย่างแน่นอน ทั้งบริษัทพัฒนาอสังหาฯ บริษัทสถาปนิก รวมไปถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ซึ่ง BIM เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานเพื่อพัฒนากระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามความต้องการและเป้าหมายการใช้ BIM เช่น การเพิ่มคุณภาพของงานออกแบบ การบริหารจัดการต้นทุน การบริหารงานก่อสร้าง รวมไปถึงการใช้ BIM ร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ สำหรับการบริหารจัดการอาคาร อีกทั้งยังมีการพัฒนาในเรื่องของการนำ BIM ไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ อีกอย่างต่อเนื่อง
ในฐานะที่บริษัทลุมพินี วิสดอม แอนด์โซลูชั่น จำกัด (LWS) ให้บริการที่ปรึกษาด้าน BIM เราได้เข้าไปพัฒนา BIM ในองค์กร หรือที่เรียกว่า BIM Corporate ให้กับองค์กรหรือบริษัทต่าง ๆ มาแล้วมากมาย ซึ่งในแต่ครั้งที่เราเข้าไปพัฒนา เรามักได้รับโจทย์ในการพัฒนาที่แตกต่างกันไปตามเป้าหมาย ทิศทาง และความคาดหวังในเรื่อง BIM ของแต่ละองค์กรหรือบริษัทนั้น ๆ ในการพัฒนา BIM สำหรับองค์กร เราให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยที่ต้องพัฒนาเพื่อให้การพัฒนานั้นสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายที่วางไว้ ได้แก่ การพัฒนากระบวนการ (Process) การพัฒนาเทคโนโลยี (Technology) และ การพัฒนาบุคลากร (People) ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ ต้องพัฒนาควบคู่กันไป และต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนา BIM นั้น ๆ ด้วย
BIM กับการพัฒนาในองค์กร ควรให้ความสำคัญกับอะไรก่อน
ใน 3 ปัจจัยที่กล่าวข้างต้น ถ้าถามถึงความสำคัญว่าอะไรสำคัญที่สุด ก็ต้องตอบว่าทั้ง 3 ปัจจัยมีความสำคัญมากที่สุดเท่ากัน แต่ถ้าถามถึงความยากของการพัฒนา BIM ในองค์กร คำตอบจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรา คือ การพัฒนาบุคลากร (People) เป็นปัจจัยที่ยากที่สุด ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่สร้างความสงสัยไม่น้อย ว่าทำไมการพัฒนาคนในองค์กรให้ทำงาน BIM ถึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุด? เพียงแค่ส่งคนไปเรียนโปรแกรม หรือ Software ที่เกี่ยวกับ BIM ก็น่าจะเพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ? จากข้อสงสัยนี้เราสามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่า การพัฒนาบุคลากรเพียงแค่ให้มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสำหรับ BIM นั้น ยังไม่เพียงพอต่อการผลักดันให้พัฒนา BIM ในองค์กรได้อย่างสำเร็จและยั่งยืน เพราะการพัฒนาบุคลากรนั้น จำเป็นต้องมีบุคลากรที่ถูกพัฒนาทักษะในหลาย ๆ ด้านเพื่อให้ BIM ในองค์กรถูกขับเคลื่อนจากบุคลากรภายในองค์กรนั้น ๆ เองได้
3 ทักษะด้าน BIM ที่บุคลากรต้องมี
หากต้องการให้การใช้ BIM ประสบความสำเร็จในองค์กร การพัฒนาบุคลากรควรคำนึงถึงทักษะ 3 ทักษะ ได้แก่ 1). BIM Technical Skill – ทักษะความรู้เฉพาะทางด้าน BIM ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี โปรแกรม หรือแม้กระทั่งทักษะการปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับ BIM 2). BIM Management Skill – ทักษะการบริหารจัดการด้าน BIM ทั้งการบริหารจัดการสำหรับโครงการ และสำหรับองค์กร 3). BIM Development Skill – ทักษะการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ให้ทันตามเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนา BIM ในองค์กรอย่างยั่งยืน
หากกล่าวตามหลักการ เรื่องการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะด้าน BIM อาจไม่ใช่เรื่องที่ซับซ้อนจนเกินไป แต่ในเชิงปฏิบัตินั้น เรามักจะพบกับอุปสรรคที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการพัฒนา BIM ในองค์กร หนึ่งในอุปสรรคที่พบได้บ่อย คือ การไม่มี Passion หรือการไม่ได้รับแรงผลักดัน จากทั้งตัวของบุคลากร และตัวองค์กรเอง ดังนั้น ก่อนที่จะเริ่มพัฒนา BIM ในองค์กร การสร้าง Passion ให้กับบุคลากรนั้น จึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่องค์กรนั้น ๆ ต้องทำ
อีกหนึ่งอุปสรรคคือ ปัญหาการขาดแคลนของบุคลากรด้าน BIM ปัจจัยที่เราคิดว่ามีผลให้เกิดการขาดแคลนบุคลากรคือ ขาดการสร้าง Career Path ให้กับบุคลาการด้าน BIM ในองค์กรเพื่อให้มีเส้นทางเติบโตในสายงานนี้ เมื่อมองไม่เห็นเส้นทางที่สามารถก้าวหน้าในสายงานได้มากกว่านี้ จึงทำให้บุคลากรด้าน BIM ขาดการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ในตลาดยังคงมีความต้องการบุคลากรด้าน BIM อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะบุคลากรที่มี BIM Technical Skill ถือว่ายังเป็นที่ต้องการในวงการอสังหาฯ
การสร้าง Passion ก่อนเริ่มพัฒนา BIM ในองค์กร
กลยุทธ์ในการสร้าง Passion ให้กับบุคลากรเพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อการพัฒนา BIM ในองค์กร มีแนวทางดังนี้
1. BIM Direction หรือ BIM Policy ขององค์กร ต้องชัดเจน – การากำหนดเป้าหมาย และทิศทางในการพัฒนา BIM สำหรับองค์กร ถือว่าเป็นด่านแรงที่สำคัญ เพราะจะเป็นตัวควบคุมให้การพัฒนา BIM เป็นไปตามความคาดหวังที่วางไว้
2. สร้างความเข้าใจในองค์กร – สื่อสารภายในองค์กรให้ผู้ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายรับทราบ เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่อง BIM Direction หรือ BIM Policy ขององค์กร และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตัวเอง หากบุคลากรเข้าใจบทบาทของตัวเองดีแล้วสามารถทำให้เกิดกระตุ้นในการอยากมีส่วนร่วมต่อการขับเคลื่อนนโยบายขององค์กร
3. เพิ่มทักษะ BIM ให้บุคลากร – ให้ความรู้และสร้างทักษะด้าน BIM ที่เหมาะสมและคล้องกับบทบาทหน้าที่ของบุคลากรในแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
4. สร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจ – เป็นการให้รางวัลหรือตอบแทนบุคลากรที่ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมและช่วยผลักดันการพัฒนา BIM สำหรับองค์กรให้สำเร็จ เพื่อสร้างคุณค่าในงาน และกระตุ้นให้บุคลากรมีความต้องการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวิธีการในการสร้างคุณค่าและความภาคภูมิใจนี้ ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดการของแต่ละองค์กร
เมื่อบุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ BIM มากพอ ก็จะช่วยส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามเป้าหมายต่าง ๆ ขององค์กรที่มุ่งหวังไว้ การสร้าง Passion ให้กับบุคลากรหรือกลยุทธ์ในการพัฒนา BIM ภายในองค์กร ถือว่าเป็นสิ่งงที่ควรทำอย่างยิ่ง ยิ่งในองค์กรใหญ่ ๆ อย่างบริษัทอสังหาฯ เมื่อเริ่มที่จะพัฒนา BIM ในองค์กรแล้ว นั้นคือการลงทุน มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ทั้งค่าใช้จ่ายในเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงการพัฒนาความรู้ให้บุคลากร และเพื่อไม่ให้การลงทุนนั้นเสียเปล่า จึงจำเป็นต้องสร้างกลยุทธ์หรือวีธีการผลักดันให้การพัฒนา BIM ในองค์กรนั้นสำเร็จ
เราเชื่อว่า องค์กรจะพัฒนาและก้าวต่อไปได้ล้วนแล้วเกิดจากการขับเคลื่อนโดยคนภายในองค์กรเอง และจะก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนได้ องค์กรนั้น ๆ ต้องไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง โลกในปัจจุบันเราถูกเชื่อมโยงเข้ากับเทคโนโลยีในทุก ๆ ด้าน ส่งผลต่อการใช้ชีวิต รวมถึงกระบวนการทำงานต่าง ๆ ที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปเพื่อก้าวในทันกับเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง “BIM” เองก็เป็นหนึ่งในนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นต่อกระบวนการทำงานเดิม หากองค์กรมีแนวทางการจัดการต่อการพัฒนา BIM ในองค์กรได้เป็นอย่างดี ก็จะสามารถใช้ “BIM” ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรนั้นได้
Comments