top of page

ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่สะสมเดือน ม.ค.เม.ย. ปี 67 จำนวนหน่วยลดลง 25%(YoY) แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 15%(YoY)

Team : Research and Development

Contact : se.somluck@lpn.co.th ,ug.phailin@lpn.co.th, an.pornthip@lpn.co.th


ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่สะสมเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2567 มีจำนวนหน่วยเปิดตัวลดลง 25%(YoY) แต่มูลค่าการเปิดตัวเพิ่มขึ้น 15%(YoY) ผลจากการเปิดตัวบ้านพักอาศัยในกลุ่มพรีเมี่ยมเติบโตขึ้นทั้งจำนวนหน่วยและมูลค่า ในขณะที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าที่คาดการณ์ อัตราตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง และสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ ทำให้กำลังซื้อลดลง แต่มาตรการณ์กระตุ้นอสังหาฯ มีแนวโน้มช่วยกระตุ้นกำลังซื้อในช่วง 8  เดือนหลังของปี 2567

Source : LWS

โดยในเดือน มกราคม-เมษายน 2567 มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 105 โครงการ จำนวน 19,423 หน่วย ลดลง 25% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 25,902 หน่วย ในระยะเดียวกันของปี 2566  ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 116,157 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากมูลค่าเปิดตัวโครงการ 100,918 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 13%  ลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยที่ 18% ในปี 2566


การเปิดตัวโครงการใหม่สะสมเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2567 เป็นส่วนของโครงการอาคารชุดพักอาศัย 19 โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ 7,165 หน่วย ลดลง 48%  คิดเป็นมูลค่า 24,886 ล้านบาท ลดลง 26% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 13,787 หน่วย และมูลค่าเปิดตัว 33,577 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 21% ลดลงจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 29% ในระยะเดียวกันของปี 2566  โดยที่ราคาขายเฉลี่ยของอาคารชุดพักอาศัย ในช่วงปี 2567 อยู่ที่ 3.47 ล้านบาทต่อหน่วย คงที่จากราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 2.44 ล้านบาท ในปี 2566

Source : LWS


ในส่วนของการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทจำนวน 62 โครงการ จำนวน 10,303 หน่วย ลดลง 6% คิดเป็นมูลค่า 44,926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 ที่มีจำนวนหน่วยเปิดตัว 10,977 หน่วยและมูลค่า 40,487 ล้านบาท โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวโครงการที่ 8%  เพิ่มขึ้นจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 5% ของระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 4.36 ล้านบาทต่อหน่วยในช่วงปี 2567 เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยที่ 3.69 ล้านบาทต่อหน่วย ในช่วงปี 2566

Source : LWS


และเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาเกิน 10 ล้านบาท จำนวน 26 โครงการ จำนวน 1,955 หน่วย เพิ่มขึ้น 72% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 1,138 หน่วยในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของปี 2567 ของบ้านพักอาศัยระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทที่ 46,346 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 73% จากมูลค่าการเปิดตัวโครงการที่ 26,854 ล้านบาทในปี 2566 มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ยที่ 9% น้อยกว่าอัตราการขายเฉลี่ยที่ 10% ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยที่ระดับราคาขายของบ้านระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 23.7 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากราคาขายในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 23.6 ล้านบาทต่อหน่วย


(หมายเหตุ : มี 2 โครงการที่มีทั้งโครงการบ้านพักอาศัยระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและบ้านพักอาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท อยู่ในโครงการเดียวกัน ทำให้มีการนับจำนวนโครงการซ้ำ)  

Source : LWS


ในขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2567 ไตรมาสแรก ของ 39 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า รายได้และกำไร ปี 2567 ไตรมาสแรก ของ 39 บริษัทอสังหาฯ ลดลง 3.55% และ 37.20% ตามลำดับ เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปี 2566 โดยมีมูลค่ารวม 71,094.20 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 5,462.47 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้รวมและกำไรสุทธิ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 ที่มีมูลค่ารวม 73,712.77 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 8,699.16 ล้านบาท ตามลำดับ มีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยของทั้ง 39 บริษัทลดลงอยู่ที่ 7.68% ณ ไตรมาสแรกปี  2566 ลดลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ 13.28% ในปี 2565


รายได้รวมของ 10 บริษัทที่มีรายได้สูงสุด อยู่ที่ 52,048.01 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 73.20% ของรายได้รวมทั้ง 39 บริษัท ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัท 10 อันดับแรกที่มีกำไรสูงสุดมีมูลค่ารวม 5,915.02 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิรวมของ 39 บริษัท เนื่องจากมีบริษัทขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 12 บริษัทจากทั้งหมด 39 บริษัท


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. ปี 2567 นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัว คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย ปรับลดลงจาก 2.7-3% มาอยู่ที่ 2-2.4% โดยยังไม่รวมการใช้ดิจิตัล วอลเล็ต  ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับสูงที่่  2.50% กระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและต้นทุนการกู้เงินของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเข้มงวดต่อการอนุมัติสินเชื่อ มีอัตราปฏิเสธสินเชื่อที่ไตรมาสแรก ปี 2567 อยู่ที่ 76.6% มูลค่าการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยในไตรมาสแรก ปี 2567 ลดลง 18.84% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566  ภาระหนี้ครัวเรือนในเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ  91.4%  ยังคงตัวอยู่ในระดับสูง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อลดลงในเดือน เม.ย. อยู่ที่ -0.55% ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และจากมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของไตรมาสแรกปี 2567 ลดลง 13.44% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566


แต่ยังมีปัจจัยส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์อย่าง นโยบายกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล อย่างการลดค่าธรรมเนียมโอน จดจำนอง โครงการบ้าน BOI โครงการสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยต่ำ และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ระดับเกิน 51.9 อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ผลจากความต้องการแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและภาค การผลิตที่เพิ่มขึ้น ดัชนีวัสดุก่อสร้าง 4 เดือนแรก ปี 2567 ลดลง 1.1% จากราคาเหล็กและสุขภัณฑ์ปรับตัวลดลงจากวิกฤติอสังหาฯในจีน ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น รวมถึงมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น 5.2% โดยเป็นชาวจีนอันดับ 1 ตามด้วยเมียนมาและรัสเซีย ส่งผลให้กำลังซื้อจากกลุ่มชาวต่างชาติมีความน่าสนใจที่จะช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์

22 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page