Team : Research Development
“ลุมพินี วิสดอม” ระบุตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ กรุงเทพฯ-ปริมณฑล สะสมเดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น 125% (YoY) มูลค่าเพิ่มขึ้น 57% (YoY)
ผลการวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์กรุงเทพฯ-ปริมณฑลสะสมเดือน ม.ค.- ก.ค. 2565 มีจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 58,092 หน่วย เพิ่มขึ้น 125% (YoY) เมื่อเทียบกับหน่วยสะสมระยะเดียวกันของปี 2564 และมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 215,318 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% (YoY) แบ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมมีหน่วยเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 229% และเพิ่มขึ้น 49%(YoY)เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 จำนวน 52 โครงการ 33,363 หน่วย มูลค่า 85,610 ล้านบาท และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 32%
ในขณะที่มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัย มีหน่วยเปิดตัวใหม่เพิ่มขึ้น 58%(YoY) จำนวน 144 โครงการ จำนวน 24,729 หน่วย มูลค่า 129,707 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 63%(YoY)เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 12%
ทาวน์เฮาส์ ช่วงราคา 2-3 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงที่สุดของบ้านพักอาศัยประเภททาวน์เฮ้าส์ อัตราขายได้เฉลี่ย 9% เปิดตัวในทุกทำเลรอบกรุงเทพฯ เช่น รังสิต ราชพฤกษ์ และเพชรเกษม
บ้านแฝด ช่วงราคา 3-6 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงสุดในบ้านพักอาศัยประเภทบ้านแฝด อัตราขายได้เฉลี่ย 12% เปิดตัวในทำเล ราชพฤกษ์-บรมราชชนนี และบางพลี-สมุทรปราการ
บ้านเดี่ยวเปิดตัวโครงการใหม่ระดับ 6-10 ล้านบาท มีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% เปิดตัวสะสมในทำเลลำลูกกา ราชพฤกษ์-ปิ่นเกล้าบรม และบางพลี-สมุทรปราการ
โครงการบ้านระดับพรีเมี่ยม มีจำนวน 35 โครงการ มูลค่ารวม 43,553 ล้านบาท รูปแบบบ้านเดี่ยว ระดับราคา 10-30 ล้านบาท และมากกว่า 50 ล้านบาท อัตราขายเฉลี่ยที่ 14%
ขณะที่ผลประกอบการครึ่งแรกของ 38 บริษัทอสังหาฯ มีรายได้รวม 148,529.71 ล้านบาท และ กำไรสุทธิ 18,763.56 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.80%(YoY) และ 8.82%(YoY) ตามลำดับ จากความสามารถในการทำกำไรโดยเฉลี่ย 12.63% เพิ่มขึ้น 11.81%(YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564
สรุปภาพรวมผลประกอบการครึ่งแรกของ 38 บริษัทอสังหาฯ มีสินค้าคงเหลือบวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 38 บริษัทอยู่ที่ 574,821.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.95% เทียบกับ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565
ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2565 ในช่วงครึ่งปีหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 2.7-3.2% จากครึ่งแรกของปี 2565 เศรษฐกิจไทยเติบโต 2.4% เป็นผลจากภาคการบริโภคภายในประเทศ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 7.16% ทำให้อัตราเงินเฟ้อ 7 เดือนแรกปี 2565 อยู่ที่ 5.89% คาดทั้งปีอยู่ที่ 4.5-5% รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ประมาณ 0.25% เป็น 0.75% และมีแนวโน้มปรับเพิ่มอีก 0.25-.0.5% ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี 2565
Comments