top of page

“พลังงาน-สิ่งแวดล้อม-สุขภาพ” สินค้ามาแรงปี 2566

Product development and Service Development

Contract : llusaporn@lpn.co.th, ntyaichompoo@lpn.co.th


ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากโรคระบาดทั้งในเรื่องสุขภาพ การดำเนินชีวิต และเศรษฐกิจ หลายคนรายได้ลดลง ตกงาน นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมทั้งโลกยังอยู่ในสภาวะถดถอย ผู้คนจึงให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเร่ืองชีวิตความเป็นอยู่ของตัวเอง และครอบครัวมากกว่าปัญหาเรื่องพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นรองที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมานี้ เมื่อโลกเกิดสถานการณ์วิกฤตจากสถานการณ์ด้านภาวะโลกร้อน โรคระบาดครั้งใหญ่ สงคราม ฯลฯ ทำให้เกิดผลกระทบแพร่กระจายออกไปแทบทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ทำให้เทรนด์ความยั่งยืนในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพจะถูกนำกลับมาทบทวนให้เพื่อให้เกิดการเริ่มต้นด้านความยั่งยืนอย่างจริงจัง การเริ่มต้นความยั่งยืนในด้านต่างๆจะเริ่มต้นจากหน่วยเล็กในระดับบ้านพักอาศัย ไปจนถึงหน่วยธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการป้องกันผลกระทบในด้านต่างๆหากเกิดสถานการณ์ไม่คาดคิดขึ้นมาอีกในอนาคต จึงคาดการณ์ได้ว่าเทรนด์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการจะเกิดขึ้นจาก 3 เทรนด์ดังต่อไปนี้


1. เทรนด์ด้านพลังงาน

• วิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ปัญหาสำคัญในปีที่ผ่านมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบต่อวิกฤติพลังงานในหลายประเทศ เนื่องจากรัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศผู้ผลิตน้ำมันหลักของโลก ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็พึ่งพาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียถึง 40% ของการบริโภค ทำให้ราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี กำลังซื้อที่ต่ำลงและค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่สูงขึ้น ผู้คนภายในประเทศจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องพลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งในด้านการลดค่าใช้จ่ายครัวเรือนและลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การหันเข้าหาพลังงานทดแทนทั้งในภาคของหน่วยบ้านพักอาศัย รวมถึงภาคธุรกิจขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การติดตั้งแผงโซล่าเซลในครัวเรือนจะเกิดการแพร่หลายมากขึ้น ด้วยปริมาณผู้ผลิตที่มีมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดราคาที่ลดลง ส่งผลให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานทดแทนได้มากขึ้นเช่นกัน


2. เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อม

• ที่อยู่อาศัยบนความยั่งยืน

จากปัญหาโรคระบาดและสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้คนแสวงหาพื้นที่สีเขียวที่ช่วยเยียวยาจิตใจและส่งเสริมสุขภาพกันมากขึ้น จากงานวิจัยของ Baramizi Lab พบว่า ผู้บริโภคชาวไทยชอบที่จะอยู่กับธรรมชาติถึง 85.2% ดังนั้นเทรนด์ที่อยู่อาศัยปีตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป จึงควรที่จะต้องมีพื้นที่สีเขียวภายในบ้านไม่ว่าจะมีขนาดใหญ่แบบสวนหย่อมหรือมุมปลูกต้นไม้เล็กๆบนระเบียง

Penda Toronto Tree Tower

ที่มา https://www.archdaily.com/877049/penda-designs-modular-timber-tower-inspired-by-habitat-67-for-toronto/598366e2b22e38994f00012a-penda-designs-modular-timber-tower-inspired-by-habitat-67-for-toronto-image


การให้ความสำคัญกับความยั่งยืนทำให้ผู้คนมองหาวัสดุ-อุปกรณ์ รวมถึงเทคโนโลยีภายในที่อยู่อาศัยที่ทำให้ประหยัดพลังงานมากขึ้น เช่น การติดตั้งระบบระบายความร้อนบนหลังคาร่วมกับการติดฉนวนกันความร้อน การติดตั้ง EV Charger สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การติดตั้ง Energy Monitoring สำหรับเช็คการใช้พลังงานภายในบ้าน เป็นต้น นอกจากนี้วัสดุก่อสร้างที่นำมาใช้นั้นต้องส่งผลกระทบน้อยที่สุดต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้วัสดุก่อสร้างที่ลดการปล่อย CO2 หรือเป็นวัสดุที่สามารถ Recycle ได้


• Net Zero Emissions

เมื่อที่อยู่อาศัยแต่ละหน่วยมีความพร้อมในด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้เมืองมีความยั่งยืนมากขึ้น หน่วยงานที่มีขนาดใหญ่ระดับประเทศหรือระดับนานาชาติก็มีเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนมากขึ้นเช่นกัน โดยหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของโลกคือ Net Zero Emission หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ มีการกำหนดระยะเวลาที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2050 หลายองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะตระหนักดีว่าเป็นหนึ่งในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมมือกัน


3. เทรนด์ด้านสุขภาพ

• การเกิดขึ้นของงานบริการที่ส่งเสริมด้านสุขภาวะที่ดีในที่พักอาศัย / อาคารสำนักงาน

คาดการณ์ว่าภาคส่วนต่างๆจะมีการนำเรื่องความยั่งยืนในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน และสุขภาพในที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ เข้ามาใช้เป็นจุดขายของธุรกิจมากขึ้น ยกตัวอย่างงานบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพในที่พักอาศัยในปัจจุบัน เช่น บริการตกแต่งบ้านแบบ Fit-in จาก 10DK ที่มีแนวคิดการให้บริการด้านการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่ลดการใช้สารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้สารเคลือบ และสีแบบสารระเหยต่ำ (Low VOCs) ซึ่งปลอดภัยต่อผู้พักอาศัย นอกจากนี้ยังมีการเลือกวัสดุจากธรรมชาติเป็นหลัก ใช้ผลิตภัณฑ์จากชุมชน และไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง รวมถึงการสร้างรายได้ให้ชุมชนโดยการให้กลุ่มโดยใช้ช่างฝีมือชุมชน โดยบริการดังกล่าวจะมีค่าบริการเริ่มต้นที่ประมาณ 200,000 บาท ซึ่งอนาคตหากเกิดการแข่งขันทางธุรกิจที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันมากขึ้นจะส่งผลให้ราคาการให้บริการในตลาดต่ำลงจนทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวกับบ้านที่ดีต่อสุขภาพคนอยู่ได้มากขึ้น


นอกจากบริการในบ้านซึ่งเป็นที่พักอาศัยหน่วยเล็กแล้ว ปัจจุบันยังมีธุรกิจอื่นๆที่กำลังนำเรื่องของการประหยัดพลังงาน และสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับผู้ใช้อาคาร/ผู้พักอาศัย เข้ามาเป็นจุดขายให้กับธุรกิจได้เติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ความยั่งยืนในอนาคต ผู้พัฒนาโครงการโรงแรม อาคารสำนักงาน โกดังสินค้า หรือโรงงานอุตสาหกรรมเองก็มีการนำมาตรฐานการก่อสร้างและการบริหารจัดการอาคารเขียว ตามเกณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้เป็นจุดขายในด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคาร เช่น มาตรฐาน LEED ,WELL , EDGE เป็นต้น

Logo การรับรองมาตรฐาน LEED ,WELL ,EDGE


จากผลสำรวจของ Statista บริษัทวิจัยจากประเทศเยอรมัน ได้มีการทำสำรวจในปี 2560 พบว่า นักท่องเที่ยวกว่า 19% ยอมเสียค่าบริการเพิ่มมากขึ้นสำหรับการเข้าพักโรงแรมที่ได้รับรอง Green Hotel ในช่วงวันหยุดพักผ่อน ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีโครงการของภาครัฐที่ได้มีการทำโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มีการเริ่มโครงการตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน และมีการเข้าร่วมของภาคธุรกิจโรงแรมอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะมีแนวคิด และเป้าหมาย คือ

1. ส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

2. มีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี

3. ยกระดับมาตรฐานการบริการ

4.ขยายเครือข่ายโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อรองรับมาตรการการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของหน่วยงานภาครัฐ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

5. เตรียมความพร้อมสู่การประเมินมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสากล อันจะทำให้เกิดการพัฒนา และส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศอย่างยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป

โครงการ Green Hotel โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม


จากแนวโน้มและทิศทางดังกล่าว เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย อาคารในเชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม ที่จะพัฒนาโดยคำนึงถึง 3 ประเด็นหลักคือ เรื่องของ พลังงาน สิ่งแวดล้อม และ สุขอนามัยที่ดี ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่จะเกิดแต่กำลังเป็นมาตรฐานใหม่ในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในทุกระดับ ในปี 2566 โดยมีเป้าหมายที่จะนำไปสู่การพัฒนาไปสู่การเป็นเมืองแห่งความยั่งยืน (Sustainable city) ในปี 2573 ตามที่ประเทศไทยและประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ได้ร่วมลงนามรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 เพื่อสร้างโลกที่ดี และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีการบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน


66 views

Comments

Couldn’t Load Comments
It looks like there was a technical problem. Try reconnecting or refreshing the page.
Post: Blog2_Post
bottom of page