top of page

มาตรฐาน EDGE กับการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ

ตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด

Contract : Prapansak@lpn.co.th


ปัจจุบันการให้บริการคลังสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า และพื้นที่โรงงานให้เช่า เป็นธุรกิจที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ทั้งกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง ซึ่งผู้ประกอบการให้ความสนใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ


ากงานวิจัยกรุงศรีหน่วยงานวิจัยภายใต้ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด(มหาชน) ให้ข้อมูลคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2565-2567 ความต้องการเช่าพื้นที่ของคลังสินค้า จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 3.5-4.0% ต่อปี อย่างไรก็ตามธุรกิจประเภทดังกล่าวก็ยังคงเป็นที่น่าจับตามอง เพราะเป็นอีกหนึ่งบริการที่มีบทบาทต่องานโลจิสติกส์และส่งเสริมให้แต่ละธุรกิจสามารถจัดการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากความต้องการของผู้เช่า ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนบนฐานความมั่นคงในห่วงโซ่อุปทานโลก และการตอบรับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยอาคารคลังสินค้าให้เช่าในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะได้แก่ 1.) คลังสินค้าแบบดั้งเดิม สัดส่วนมากกว่า 95% ของจำนวนคลังสินค้าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เน้นบริการพื้นที่เช่า และ 2.) คลังสินค้าสมัยใหม่ ให้บริการพื้นที่เช่าที่รองรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้า


ความต้องการพื้นที่เช่าดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการหันมาปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารคลังสินค้าจากแบบดั้งเดิมมาเป็นอาคารคลังสินค้าสมัยใหม่ทั้งในด้านรูปแบบของอาคารที่มีสีสันสะดุดตา การเป็นอาคารอนุรักษ์พลังงานที่ได้มาตรฐาน เช่น LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นต้น เพื่อเพิ่มฐานลูกค้า


จากแนวคิดการออกแบบและปรับปรุงอาคารจากอาคารแบบดั้งเดิมเป็นอาคารสมัยใหม่นี้ จึงมีผู้ประกอบการบริการให้เช่าอาคารคลังสินค้าจำนวนมาก ที่ต้องการขอการรับรองมาตรฐานอาคารเขียวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของลูกค้าทั้งในประเทศไทยและในตลาดอาเซียน บริษัท แอล ดับเบิ้ลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด ได้มีการศึกษามาตรฐานอาคารเขียวที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล พบว่า มาตรฐาน EDGE ( (Excellence in Design for Greater Efficiencies) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่พัฒนาโดย International Finance Corporation (IFC) มีความเหมาะสมอย่างมากในการนำมาใช้เป็นแนวทางในการประเมินและปรับปรุงประสิทธิภาพของอาคาร โดยเฉพาะอาคารประเภทคลังสินค้าเก่า ที่ต้องการควบคุมค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงอาคาร รวมไปถึงระยะเวลาในการดำเนินงานเพื่อขอการรับรองมาตรฐาน โดยมาตรฐาน EDGE นี้ มุ่งเน้นไปที่ 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การประหยัดน้ำ และการเลือกใช้วัสดุ โดยสามารถประเมินผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นแนวทางการกำหนดกลยุทธ์ต่างๆในการประหยัดพลังงานได้อย่างคุ้มค่าและรวดเร็ว

มาตรฐาน EDGE แบ่งระดับการรับรองออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่


1) EDGE Certified ที่กำหนดให้อาคารจะต้องมีผลการประหยัดของ 3 ระบบหลัก (การใช้พลังงาน, การใช้น้ำ และการใช้วัสดุและทรัพยากร) ไม่น้อยกว่า 20%

2) EDGE Advanced ที่กำหนดให้อาคารจะต้องมีผลการประหยัดของ 3 ระบบหลัก (การใช้พลังงาน, การใช้น้ำ และการใช้วัสดุและทรัพยากร) ไม่น้อยกว่า 40% และ

3) EDGE Zero ต้องมีผลการประหยัดน้ำและด้านการใช้วัสดุและทรัพยากร 20 % และมีผลการประหยัดพลังงานได้ 100 %โดยใช้พลังงานหมุนเวียนหรือการชดเชยคาร์บอน


จากผลการประเมินการพัฒนาอาคารคลังสินค้าเก่า ลักษณะอาคารแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนสำนักงาน และส่วนคลังสินค้าทั่วไป ซึ่งโครงการมีแผนการปรับปรุงและซ่อมแซมอาคารเพื่อขอรับรองอาคารเขียวตามมาตรฐาน EDGE ในระดับ Certified หลังการประเมินขีดความสามารถอาคารผ่านแอปพลิเคชันพบว่า ในอาคารคลังสินค้ามีสัดส่วนการพลังงานไฟฟ้าจากการใช้งานไฟฟ้าแสงสว่างเป็นหลักของมูลค่าไฟต่อปี อาคารจึงจะต้องมีปรับเปลี่ยนหลอดไฟเป็นหลอดไฟประเภท LED ชนิดประหยัดพลังงาน การปรับเปลี่ยนหลอดไฟสามารถปรับได้ในหลายรูปแบบ เช่น การเปลี่ยนประเภทของหลอดไฟ การเปลี่ยนจำนวนดวงโคมที่มีการติดตั้ง หรือการปรับเปลี่ยนแบบการจัดเรียงดวงโคม ซึ่งการเปลี่ยนนั้นเพื่อลดปริมาณกำลังไฟที่ใช้และจะต้องศึกษาผลกระทบเรื่องค่าความส่องสว่างที่มีประสิทธิภาพต่อผู้ใช้งานอาคารควบคู่ไปด้วย ในขณะเดียวกันโครงการมีการเพิ่มการติดตั้งฉนวนหลังคาและปรับเปลี่ยนโทนสีของอาคารเพื่อช่วยลดความร้อนที่เข้ามาภายในอาคาร ช่วยให้เกิดสภาวะน่าสบายในการใช้งานอาคารมากขึ้น โดยหากอาคารมีส่วนปรับอากาศสามารถติดตั้งฉนวนผนังเพิ่มเติมเพื่อลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศและห้องเย็น ส่วนเรื่องการประหยัดน้ำมาตรฐาน EDGE จะมุ่งเน้นไปที่การประหยัดน้ำที่ใช้ภายในอาคาร โดยมีการเลือกใช้หรือปรับเปลี่ยนไปใช้สุขภัณฑ์ประหยัดน้ำทดแทน และสุดท้ายการพิจารณาในด้านการเลือกใช้วัสดุควรเลือกใช้วัสดุที่มีการใช้พลังงานในการผลิตต่ำและไม่ใช้วัสดุใหม่อย่างสิ้นเปลือง เช่น การนำวัสดุเก่าภายในอาคารกลับมาใช้ใหม่ การเลือกซ่อมแซมเฉพาะจุดที่เสียหายภายในอาคาร การใช้โครงสร้างเดิมของอาคาร ซึ่งวิธีการดังกล่าวนี้จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่เกิดจากการก่อสร้างได้


จากที่กล่าวมาข้างต้นผลการประเมินประเมินว่าโครงการจะสามารถลดค่าไฟได้ถึง 50% จากเดิม และโครงการยังใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างปรับปรุงอาคารที่สั้นเพียง 1-3 เดือน ใช้ระยะเวลาการยื่นเรื่องขอรับรองอาคารเขียวเพียง 1-2 เดือน ซึ่งในระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง โครงการยังสามารถลดค่าดำเนินการในการเก็บข้อมูลการดำเนินการตามแผนป้องกันมลพิษจากการก่อสร้าง ตามข้อกำหนดการดำเนินของมาตรฐานอาคารเขียวอื่นๆลงได้ เนื่องจากมาตรา EDGE นั้น มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้น้ำ และการใช้วัสดุและทรัพยากร จากการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุก่อสร้างเท่านั้น จะพบว่ามาตรฐาน EDGE เหมาะกับผู้ประกอบกิจการปล่อยเช่าอาคารคลังสินค้าเก่าที่มีความต้องการจะปรับปรุงอาคารในรูปแบบเดิมนั้นให้ทันสมัยมากขึ้น ช่วยลดระยะการดำเนินการ ช่วยลดต้นทุนการขอรับรอง ซึ่งมาตรฐาน EDGE สามารถตอบรับตามความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ในกระบวณการบริหารโครงการ ตามแผนปรับลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของชาติ

6 views

コメント


Post: Blog2_Post
bottom of page