Team : Research Development
“ลุมพินี วิสดอม” คาดการเป็นตัวที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตเกือบเท่าตัวเทียบกับปี 2564 หลังจากที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ฯ เร่งเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ 11 เดือนแรกปี 2565 ( ม.ค.-พ.ย. 2565) มีจำนวนหน่วยเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น 90%(YoY) คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 74%(YoY)
ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด(LWS) บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล. พี. เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) คาดการณ์จำนวนหน่วยการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปี 2565 มีแนวโน้มเติบโตเกือบเท่าตัว หลังจากที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เร่งเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2565 (มกราคม-พฤศจิกายน 2565) พบว่า มีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 99,338 หน่วย เพิ่มขึ้น 90% (YoY) คิดเป็นมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่รวม 432,849 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74% (YoY) เมื่อเทียบกับการเปิดตัวโครงการในระยะเดียวกันของปี 2564 แบ่งเป็นการเปิดตัวคอนโดมิเนียมใหม่ 90 โครงการ คิดเป็น 90,797 หน่วย เพิ่มขึ้น 151% (YoY) มูลค่า 133,349 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 29%
ในขณะที่มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัย จำนวน 280 โครงการ จำนวน 48,379 หน่วย เพิ่มขึ้น 52% (YoY) มูลค่า 299,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90%(YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2564 และมีอัตราขายเฉลี่ยอยู่ที่ 12%
ทาวน์เฮาส์ ช่วงราคา 2-3 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงที่สุดของบ้านพักอาศัยประเภททาวน์เฮาส์ อัตราขายได้เฉลี่ย 10% เปิดตัวในทุกทำเลรอบกรุงเทพฯ เช่น รังสิต บางบัวทอง และบางนา
บ้านแฝด ช่วงราคา 3-6 ล้านบาท มีจำนวนหน่วยเปิดตัวสูงสุดในบ้านพักอาศัยประเภทบ้านแฝด อัตราขายได้เฉลี่ย 10% เปิดตัวในทำเล บางนา บางพลี รังสิต และบางบัวทอง-นนทบุรี
สำหรับตลาดบ้านเดี่ยวพบว่ามีการเปิดตัวโครงการใหม่ระดับ 6-10 ล้านบาท มีอัตราขายได้เฉลี่ย 10% เปิดตัวสะสมในทำเลรังสิต-ลำลูกกา บางพลี-สมุทรปราการ และบางบัวทอง-นนทบุรี
เช่นเดียวกันกับโครงการบ้านระดับพรีเมี่ยม มีจำนวน 85 โครงการ มูลค่ารวม 129,026 ล้านบาท รูปแบบบ้านเดี่ยว คิดเป็นสัดส่วน 80%
ด้านแนวโน้มการเปิดตัวโครงการใหม่ปี 2566 ทั้งอาคารชุดและบ้านพักอาศัย เติบโตอยู่ที่ 2-12%(YoY) ตามการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ 3.5-4.5%
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 2565 ในช่วง 11 เดือนของปี 2565 อัตราเงินเฟ้อเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลดลง ทำให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 6.10% และประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.2% ส่วนประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2566 เติบโตที่ 3.7% เช่นเดียวกับการประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยของ IMF ในขณะเดียวกัน ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้า เดือนพฤศจิกายนปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.1%(YoY) ทำให้ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ย 11 เดือนแรกของปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้น 6.0%(YoY) โดยหมวดของไม้และซีเมนต์มีการปรับราคาสูงขึ้น 8.1% และ 4.9% ตามลำดับ
นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) มีประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมเดือนพฤศจิกายน 2565 จาก 1%เป็น 1.25% เพื่อลดความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุน ที่จะกระทบกับค่าเงินบาท อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจปี 2566 ยังคงต้องจับตาดูในด้านเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากผลกระทบสงครามที่ยืดเยื้อระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวัน ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น ระบบ supply chain ของโลกและการส่งออกรวมถึงการท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ รวมถึงการปรับดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เป็น 3.5% และมีแนวโน้มเป็น 4% ในครึ่งปีแรกของปี 2566
Comentários