คุณฐิติ อุปนันท์ (ผู้เชี่ยวชาญอาคารเขียว - Sustainable Building Development)
Contact : un.thiti@lpn.co.th
ปัจจุบันการนำพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล เช่น ถ่านหิน ปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกำลังจะหมดไปในอนาคตอันใกล้ อีกทั้งยังปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณมหาศาล ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้เกิดภาวะเรือนกระจกและปัญหาโลกร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานที่ได้จากแสงอาทิตย์ที่ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าเพื่อใช้ในครัวเรือน อาคารสำนักงาน หรือในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
โซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือ หลังคาโซล่าเซลล์ คือ การนำแผงโซลาร์เซลล์ติดตั้งไว้บนหลังคาอาคารที่อยู่อาศัย สำนักงาน หรือโรงงาน ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้งานในระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในอาคาร
ลักษณะของระบบโซลาร์รูฟท็อป จะแบ่งเป็น 3 ระบบ คือ
• ระบบออนกริด (On Grid) เป็นระบบโซลาร์เซลล์แบบต่อเข้ากับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า (ไฟบ้าน) การผลิตไฟฟ้าระบบนี้จะใช้แผงโซลาร์เซลล์สำหรับการกำเนิดไฟฟ้า หลังจากนั้นจะจ่ายไฟให้กับกริดไทอินเวอร์เตอร์ (Grid Tie Inverter) หรือพูดง่ายๆ ก็คือหม้อแปลงไฟนั้นเอง ซึ่งจะแปลงไฟฟ้ากระแส (DC) ตรงเป็นไฟกระแสสลับ (AC) และจะต่อเข้ากับระบบไฟบ้าน เพื่อใช้งานร่วมกันต่อไป กรณีมีการใช้ไฟฟ้าเกินกว่ากำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์ ไฟจากการไฟฟ้าจะถูกดึงมาจ่ายพลังงานโดยอัตโนมัติ เพื่อให้การใช้ไฟของคุณไม่สะดุดและเกิดปัญหาตามมาภายหลัง ระบบออนกริดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยประหยัดพลังงาน โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้รับพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ซึ่งระบบนี้เหมาะกับการใช้งานในตอนกลางวันเท่านั้น เช่น บ้านที่มีการใช้งานในตอนกลางวัน อาคารสำนักงานที่ทำงานตอนกลางวัน เช่น บ้าน สำนักงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น
• ระบบออฟกริด (Off Grid) เป็นการใช้งานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สมบูรณ์ในตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟจากการไฟฟ้าแต่อย่างใด ระบบออฟกริดต่างจากระบบออนกริดตรงที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะถูกเก็บไว้ในแบตเตอรี่ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เกี่ยวข้องกับระบบฟ้าส่วนกลาง และสามารถใช้ไฟนี้ในช่วงเวลากลางคืนได้ เป็นที่นิยมใช้ในสถานที่ที่ไฟฟ้าไม่สามารถเข้าถึง
• ระบบไฮบริด (Hybrid) เป็นการรวมของระบบออนกริดและออฟกริดเข้าด้วยกัน กล่าวคือ มีการใช้ไฟจากการไฟฟ้า รวมถึงมีแบตเตอรี่ไว้กักเก็บพลังงานสำรองด้วย โดยระบบไฮบริดจะทำงานโดยดึงไฟที่ผลิตได้จากโซล่าเซลล์มาใช้ก่อน และเมื่อไฟไม่พอจึงดึงไฟจากการไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่มาใช้สำรอง ซึ่งคุณสามารถกำหนดเองได้ว่าจะให้ระบบดึงไฟฟ้าสำรองส่วนไหนมาใช้ และเช่นเดียวกันกับเวลากลางคืน ระบบจะดึงพลังงานจากแบตเตอรี่มาใช้ก่อน และเมื่อพลังงานหมดจึงค่อยสลับมาใช้ไฟจากการไฟฟ้า ทำให้ประหยัดค่าไฟเพิ่มขึ้นไปอีก
สำหรับประโยชน์ของการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป มีดังนี้
1. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟในระยะยาว อย่างที่ทราบกันดีว่าโซลาร์รูฟท็อปเป็นระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงเวลากลางวัน ดังนั้นจึงสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนของค่าไฟได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะกับภาคครัวเรือนหรือภาคอุตสาหกรรม และถึงแม้ว่าโซลาร์รูฟท็อปจะมีต้นทุนที่สูง แต่ด้วยอายุการใช้งานที่ยาวนานก็จะสามารถทำให้คืนทุนได้ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี
2. ช่วยลดความร้อนภายในบ้านเรือนหรือโรงงาน ถือเป็นผลดีอีกอย่างหนึ่งที่เกิดจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพราะแผงโซล่ารเซลล์ที่นำมาติดตั้งบนหลังคาจะสามารถช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ได้เป็นอย่างดี จึงช่วยลดความร้อนที่เกิดจากการรับแสงอาทิตย์เป็นเวลานานได้
3. เป็นพลังงานสะอาด ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ถือเป็นกระบวนการผลิตที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษและเรียกได้ว่าเป็นพลังงานสะอาด นอกจากนี้แล้วยังเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ใช้แล้วไม่หมดไป จึงส่งผลดีต่อธรรมชาติและโลกในระยะยาว
Source : Property GURU Thailand
ปัจจุบันเริ่มมีหลายบริษัท หลายหน่วยงานที่ให้บริการติดตั้งและจัดจำหน่ายโซลาร์รูฟท็อปที่ได้มาตรฐานให้เลือกหลากหลาย โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ตามความเหมาะสมของการใช้งานและมูลค่าการลงทุน ดังตัวอย่างต่อไปนี้
• ตัวอย่างแพ็คเกจ บริษัท เอท โซลาร์ จำกัด ผู้ติดตั้งและจัดจำหน่ายระบบพลังงานแสงอาทิตย์ ชั้นนำของประเทศไทย
Source : http://eightsolar.com
• ตัวอย่างแพ็คเกจเริ่มต้น ระบบหลังคาโซลาร์ เอสซีจี ของ เอสซีจี โฮม
Source : http://scghome.com
• ตัวอย่างการเปรียบเทียบระยะเวลาการคืนทุนในการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปสำหรับภาคครัวเรือน โดย Krungthai COMPASS
Source : Krungthai COMPASS
จากการให้ข้อมูลของคุณพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์เปิดเผยว่า แนวโน้มการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ภาพรวมของไทยปี 2565 จะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะบนหลังคาที่อยู่อาศัยและอาคารโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยฉบับใหม่ (PDP 202) ที่ปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อให้สอดรับกับกระแสการลดภาวะโลกร้อนภายใต้การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ COP 26 ที่ทำให้ประเทศต่าง ๆ และองค์กรเอกชนรายใหญ่ประกาศวางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์
มีหลายปัจจัยที่หนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่จะมีมากขึ้นในปี 2565 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับตัวหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นเพราะกติกาโลกเริ่มมีออกมาเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรปที่จะบังคับนำร่องสินค้า 5 รายการในปี 2566 และเต็มรูปแบบในปี 2569 และอื่นๆ ที่คาดว่าจะมีตามมาเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายใต้ COP26 ซึ่งประเทศพัฒนาส่วนใหญ่วางไว้ในปี ค.ศ. 2050 และไทยวางไว้ปี ค.ศ. 2065 รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเพราะทิศทางค่าไฟฟ้าปี 2565 จะปรับขึ้นค่อนข้างสูง ดังนั้นการผลิตไฟใช้เอง (IPS) จะมีมากขึ้น
สำหรับภาคประชาชนที่คาดว่าจะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากปัจจัยค่าไฟฟ้าที่มีทิศทางสูงขึ้นยังจำเป็นต้องติดตามมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จากรัฐบาลที่คาดว่าจะมีการนำเสนอเข้าสู่วาระการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา โดยมาตรการเบื้องต้นหากเป็นรถ EV ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 5 แสนบาท ส่วนรถ EV ที่ราคา 2 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ซื้อจะได้ส่วนลดสูงสุดประมาณ 7-8 แสนบาท พร้อมวางเป้าให้คนไทยหันใช้รถอีวีให้ครบ 300,000 คันภายใน 5 ปี ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ก็จะมีส่วนสำคัญในการที่ประชาชนจะหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพิ่มเติมเพื่อรองรับการใช้รถ EV เพราะต้องการใช้พลังงานฟรีที่บ้าน
อย่างไรก็ตามการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่สูงขึ้นต่อเนื่องมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ที่เริ่มมีการผลิตเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้นจนส่งผลให้ราคาเริ่มต่ำลง และแนวโน้มจะเป็นลักษณะไฮบริดคือการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบวกกับแบตเตอรี่ เพื่อทำให้การผลิตไฟจากแสงอาทิตย์มีความมั่นคงสามารถกักเก็บไว้ใช้ได้ในช่วงกลางคืนซึ่งตอบโจทย์การพึ่งพาตนเองได้มากขึ้นและระยะยาวเชื่อว่าจะมีราคาที่ต่ำลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปคือราคาแผงที่มีแนวโน้มสูงไปถึงไตรมาส 2 และการขาดแคลนชิปซึ่งต้องติดตามจีนที่เป็นผู้ผลิตรายใหญ่จะมีการผลิตเพิ่มได้มากน้อยเพียงใด
ระยะต่อไปการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่เป็นแบบไฮบริดจะมีมากขึ้น ความสนใจในการที่จะผลิตไฟฟ้าเพื่อที่จะขายไฟให้กับรัฐภายใต้โครงการโซล่าฯภาคประชาชนที่รับซื้อไฟส่วนเกินอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยคงน้อยลงเพราะราคานี้ไม่ได้จูงใจอะไร แต่เขาเน้นติดเพื่อพึ่งพาตนเองมากกว่า ดังนั้น การที่รัฐจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซล่าฯภาคประชาชนเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ในปี 2565 จากเดิม 50 เมกะวัตต์ถือเป็นอัตราที่เหมาะสม คุณพลกฤตกล่าว
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย ได้ให้ข้อมูลว่า รายได้ของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในช่วง 1-3 ปีข้างหน้ามีแนวโน้มเติบโตเพียง 3.6% ต่ำกว่าช่วงก่อนหน้าที่เคยเติบโตได้ 7.2% เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศโดนกดดันจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้ไม่เร็วนัก
ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรือนในระดับสูงที่ 89.3% ต่อจีดีพี ส่วนกำลังซื้อของชาวต่างชาติถูกจำกัดจากมาตรการเดินทางระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ธุรกิจที่เคยเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯ ก็มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้าเช่นกัน
สำหรับธุรกิจหลักและธุรกิจเสริมของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในปัจจุบัน ล้วนกำลังเผชิญความเสี่ยงจากโควิด-19 ธุรกิจเสริมไม่ว่าจะเป็นอพาร์ตเมนต์ หรือโรงแรมต่างก็ได้รับผลกระทบจากการหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนออฟฟิศสำนักงานให้เช่าที่กำลังถูกดิสรัปจากการเวิร์กฟอร์มโฮมเป็น New Normal จึงเป็นการยากที่ธุรกิจเหล่านี้จะสามารถช่วยประคับประคองผลการดำเนินงานได้ ทำให้มองว่าผู้พัฒนาอสังหาฯ จำเป็นต้องหาแหล่งรายได้เสริมใหม่
ดร.กิตติพงษ์ เรือนทิพย์ นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS กล่าวว่า ธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมีศักยภาพในการเป็นแหล่งรายได้เสริมให้กับผู้พัฒนาอสังหาฯได้ เนื่องจากมูลค่าตลาดมีแนวโน้มสูงถึง 1.37 แสนล้านในช่วง 10 ปีข้างหน้า นอกจากกระแสรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้โซลาร์รูฟท็อป มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาจากความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากราคาโซลาร์รูฟท็อปที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ราคารับซื้อไฟที่เพิ่มขึ้น รวมถึงโควตารับซื้อไฟของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นในอนาคตข้างหน้า
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2556 ราคาแผงโซลาร์ในไทยลดลงกว่า 66% ประกอบกับราคารับซื้อไฟของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเป็น 2.2 บาท/หน่วย ทำให้ระยะเวลาคืนทุนจากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเร็วขึ้นจาก 17-30.3 ปี ในปี 2556 เหลือ 6.1-13.9 ปี ในปี 2564 และอาจเหลือเพียง 5.3-12 ปี ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีข้างหน้าเนื่องจากราคาแผงโซลาร์ยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประเมินว่ามีครัวเรือนไทยถึง 2.3 ล้านครัวเรือนที่สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและคุ้มทุนได้ค่อนข้างเร็ว หากครัวเรือนกลุ่มนี้เพียง 20% หันมาติดแผงโซลาร์ก็จะทำให้มูลค่าตลาดสูงถึง 1.37 แสนล้านบาท
นายกณิศ อ่ำสกุล นักวิเคราะห์ Krungthai COMPASS กล่าวเสริมว่า จากโครงการก่อสร้างของผู้พัฒนาอสังหาฯ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะมีบ้านกว่า 1 แสนหลังที่มีโอกาสจะติดตั้งโซล่ารูฟท็อป ซึ่งผู้พัฒนาอสังหาฯ มีข้อได้เปรียบในการนำเสนอ solution ให้กับครัวเรือน
เนื่องจากผู้ประกอบการในธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ส่วนใหญ่มีความสัมพันธ์อันดีกับลูกบ้านเดิมอยู่แล้ว และยังมีความน่าเชื่อถือซึ่งอาจจะทำให้ลูกบ้านกล้าลงทุนในระบบโซลาร์รูฟท็อปที่มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ทั้งนี้ กลยุทธ์ที่ผู้พัฒนาอสังหาฯ สามารถเข้าสู่ตลาดได้เร็วคือการเป็นพันธมิตรกับบริษัทรับติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ดังเช่นกรณีของบริษัท Stockland ซึ่งเป็นผู้พัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่ในออสเตรเลีย เป็นต้น
บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่นจำกัด ในฐานะเป็นบริษัทที่ทำงานด้านการวิจัยพัฒนาและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน ได้ศึกษาและติดตามการนำโซลาร์รูฟท็อปมาใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำมาใช้ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาภายใต้บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการให้ความรู้กับผู้ที่สนใจและการนำมาใช้กับโครงการของ LPN เอง เพื่อให้ลูกบ้านได้รับประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งของการลดโลกร้อนอีกด้วย
Comentarios