top of page

3 Mega-Trend ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2565 ความเป็นส่วนตัว-สุขภาพ-เทคโนโลยี

Team : Product Development & Service Development

Contact : ll.usaporn@lpn.co.th ,nt.yaichompoo@lpn.co.th


แนวโน้มการพัฒนาที่อยู่อาศัยและงานบริการในปี 2565 จากการระบาดของโคโรน่าไวรัสสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ปี 2563-ปัจจุบัน ทำให้พฤติกรรมของผู้ซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลงไป โดยผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพและสุขอนามัยในการอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เป็นแนวโน้มสำหรับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในปี 2565 ที่การออกแบบต้องให้ความสำคัญใน 3-Mega Trend ที่ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย และแก้ปัญหา (Pain Point) ในการอยู่อาศัยของผู้ซื้อในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่

• Well-being การออกแบบที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขอนามัยที่ดี

• Smart Living รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป โดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างสมดุล

• Virtual - Connecting การพัฒนาทางเทคโนโลยี นำไปสู่พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตปกติในบริบทใหม่

Source : ข้อมูลการสำรวจบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS)


Well-Being : การออกแบบที่อยู่อาศัยให้ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตอย่างมีสุขอนามัยที่ดี

จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผนวกเข้ากับภาวะโลกร้อน ปัญหา ฝุ่น PM 2.5 ทำให้ผู้คนตระหนักว่าบ้าน อาคารและเมืองมีส่วนสำคัญในการจัดการเชื้อโรค และมีผลต่อสุขอนามัยอย่างมาก เป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิตและเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพทางกายและจิตใจ แต่เพียงแค่การออกแบบอาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอาจไม่เพียงพออีกต่อไป


ปัจจุบันมาตรฐานการออกแบบอาคารที่ส่งเสริมสุขภาวะของคนจึงเป็นมาตรฐานใหม่ในการออกแบบที่อยู่อาศัย โดยคำนึงถึงสุขอนามัยที่ดี โดยปัจจุบันมีการนำมาตรฐานการออกแบบที่เรียกว่า WELL Building Standard จาก International WELL Building Institute (IWBI) ประกอบด้วยแนวทางการออกแบบอาคาร 10 ด้านที่ต้องคำนึงถึงเพื่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร ประกอบด้วย อากาศ น้ำ โภชนาการ แสงสว่าง การเคลื่อนไหว สภาวะน่าสบาย เสียง วัสดุอาคาร จิตใจ และชุมชน

• แนวทางข้างต้นสามารถนำมาปรับใช้กับการออกแบบบ้านและอาคารคอนโดมิเนียมได้ เช่น

• การออกแบบช่องเปิดเพื่อการระบายอากาศที่ดีและเปิดรับแสงธรรมชาติอย่างเหมาะสม

• มีบริเวณสำหรับปลูกพืชผักสวนครัวเล็กๆเพื่อเพิ่มการกินผักและพื้นที่ปลูกต้นไม้ยังส่งเสริมสภาพจิตใจ

ออกแบบทางเดินหรือบันไดให้น่าเดินเพื่อส่งเสริมให้คนเคลื่อนไหวมากขึ้น

• ลดเสียงดังรบกวนจากภายนอกอาคารด้วยการปลูกต้นไม้ตามทิศทางของเสียง

• หรือแม้แต่การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ตอบรับกับสรีระเพื่อลดอาการปวดเมื่อย (Ergonomic) เป็นต้น

นอกจากที่พักที่มีการออกแบบที่เหมาะสมแล้ว บริการก็เป็นสิ่งเติมเต็มส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในการอยู่อาศัย เช่น บริการดูแลสุขภาพคนในชุมชนร่วมกับโรงพยาบาลใกล้บ้าน บริการตู้รับคืนขยะรีไซเคิลอัตโนมัติ บริการจัดมุมต้นไม้ในพื้นที่พักอาศัย บริการทำความสะอาด อุปกรณ์เครื่องใช้ พ่นฆ่าเชื้อ กำจัดไรฝุ่น บริการนวดแผนไทยที่บ้าน แก้อาการออฟฟิศซินโดรม เป็นต้น

Source : ข้อมูลการสำรวจบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS)


Smart-Living : รูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปโดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างสมดุล

เพราะพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นโยบายการทำงานที่บ้านหรือกระจายศูนย์เป็นที่ดึงดูดคนทำงานมากขึ้น ก่อให้เกิดการตั้งคำถามของคนถึงการเดินทางไปทำงานที่เสียเวลามากเกิน จนถึงความจำเป็นที่ต้องอาศัยอยู่ในเมืองอย่างแออัด จนเกิดกระแส Rural Revival คือการที่ประชากรกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่ชานเมืองหรือชนบทมากขึ้น มองหาการใช้ชีวิตที่มีความแออัดน้อยลง นักวางผังเมืองเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิด “เมือง 15 นาที” คือการปรับเมืองเล็กๆให้เป็นเหมือนกับหมู่บ้านหรือย่านที่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ของคนในพื้นที่ และเข้าถึงได้โดยง่ายแม้แต่การเดินหรือจักรยาน


การออกแบบที่อยู่อาศัยในวงการอสังหาริมทรัพย์จึงควรตอบรับกับแนวคิด “เมือง 15 นาที” นี้มากขึ้น เช่นการตั้งโครงการอยู่นอกเมืองแต่ใกล้กับแหล่งชุมชน มีพื้นที่ที่เชื่อมต่อกับชุมชนมากขึ้น รวมไปถึงการจัดเตรียมพื้นที่ที่ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับระหว่างกลุ่มผู้อาศัย และมีพื้นที่สาธารณูปโภคที่ครบครัน นอกจากในด้านเมืองแล้ว เมื่อพิจารณาถึงพื้นที่พักอาศัยเช่นห้องชุดหรือบ้าน ในวันที่ทุกคนถูกจำกัดให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านหรือห้องพักอาศัย ต้องทำงานที่บ้าน (WFH) และไม่สามารถออกไปใช้พื้นที่สาธารณะได้ ทำให้คนกลับมาสนใจพื้นที่บ้านของตัวเองมากขึ้น เมื่อบ้านยังคงเป็นศูนย์กลางหลักในการดำเนินชีวิต ผู้บริโภคต่างมองว่านอกบ้านได้กลายเป็นส่วนต่อขยายของพื้นที่ภายในบ้านมากขึ้น จึงเกิดการใช้งานใหม่ๆตั้งแต่มุมพักผ่อนไปจนถึงห้องนั่งเล่น บาร์กลางแจ้ง ดังนั้นการออกแบบที่พักอาศัยที่มีพื้นที่ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการใช้งานที่มากไปกว่าแค่การนอนและพักผ่อน ให้เป็นไปตามไลฟ์สไตล์ เช่น สามารถปรับเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ จัดสวน เก็บของสะสม หรือทำงานอดิเรกต่างๆ


จากผลสำรวจของ “ลุมพินี วิสดอม” ข้างต้น ในด้านความเป็นส่วนตัวแล้วนั้น ตอบรับกับแนวคิด Rural Revival อย่างมาก โดยผู้อาศัยต้องการโครงการที่มีจำนวนห้องชุดต่อชั้นไม่มาก ไม่พลุกพล่าน ลดความแออัด มีความต้องการพื้นที่ Co-living Space สำหรับทำงานในพื้นที่ส่วนกลางโดยสามารถเว้นระยะห่างกันเพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว อีกทั้งในยุคสมัยที่เวลาถูกใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถจัดการงานและภารกิจส่วนตัวได้ บริการที่ส่งตรงถึงบ้าน Service Anytime Anywhere เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่เสริม ให้การจัดการทั้งหน้าที่การงาน หน้าที่สำหรับครอบครัว และหน้าที่ส่วนตัว สะดวก และลงตัวยิ่งขึ้น เช่น บริการช่วยดูแลเด็ก , บริการดูแลผู้สูงอายุรายวัน/รายชั่วโมง,บริการพาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ บริการล้างรถถึงบ้าน รวมไปถึงบริการอื่นๆที่สอดคล้องกับเรื่องความปลอดภัย และสุขภาพลดการเดินทาง และการสัมผัสเช่น บริการจัดส่งสินค้าถึงห้องโดยเฉพาะสินค้าใช้สอยประจำวัน หรือสินค้ามีน้ำหนัก น้ำดื่ม ข้าวสาร น้ำยาซักล้างต่างๆ เป็นต้น

Source : ข้อมูลการสำรวจบริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS)


Virtual-Connecting : การพัฒนาทางเทคโนโลยี นำไปสู่พัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตปกติในบริบทใหม่

ในปี 2565 นิตยสาร Forbes ได้คาดการณ์ว่าจะเกิด 10 Digital Transformation Trends ไว้ เช่น นโยบาย Work from home หรือ Work Mega Shift ทำให้เกิดการพัฒนา และใช้งานที่เกี่ยวกับ Smart Work From Home มากยิ่งขึ้น โดย Forbes กล่าวว่าเราอาจจะได้เห็นการอพยพของประชากรจากเมืองหลวงสู่ชนบท ซึ่งส่งผลให้เกิดการลงทุนด้านเครือข่ายและการเชื่อมต่อในพื้นที่ชนบทเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น


Forbes ยังได้คาดการณ์เรื่อง Smart Cars and Cities คือไม่ใช่เพียงรถพลังงานไฟฟ้าจะมีเทคโนโลยีที่ชาญฉลาด แต่เมืองจะต้องพัฒนาโครงสร้างเพื่อตอบรับ smart cars นี้ด้วย เช่นจุดชาร์ทรถไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น การเชื่อมต่อระหว่างรถกับเมืองด้วย IOT ไปจนถึง Privacy คือความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในการใช้เทคโนโลยี รวมถึงกระแส Metaverse อีกด้วย ซึ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มีความเคลื่อนไหวโดย MQDC ได้เข้าร่วมกับโปรเจค Translucia เป็น Property Developer รายแรกที่เข้าไปพัฒนาเมืองในโลกสเมือนจริงแห่งนี้ ซึ่งทำให้เป็นที่น่าจับตามองของวงการอสังหาริมทรัพย์ต่อไปถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนอกจากนี้ยังมีเรื่อง Power of AI ที่จะมีส่วนในชีวิตประจำวันของคนเป็นอย่างมาก เช่น Google Home ที่ผู้ใช้งานมีความเห็นว่าสามารถควบคุมแอปพลิเคชั่นและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวกสบายได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ยังคงมีสืบเนื่องมาตลอดในการออกแบบพื้นที่พักอาศัย


จากข้อมูลการสำรวจความต้องการของกลุ่มคนทำงานที่มีความคาดหวังเกี่ยวกับงานบริการในอาคารชุดของ “ลุมพีนี วิสดอม” พบว่า ผู้อาศัยได้มีความต้องการที่ตอบรับกับกระแสด้านเทคโนโลยี โดยยังมุ่งเน้นในการใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ช่วยให้ชีวิตประจำวันสะดวก เช่น IOT ซึ่งเป็นที่ต้องการใช้งานมากขึ้น และด้านความปลอดภัยเช่นการใช้รหัสผ่านแทนกุญแจ ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่ทางเข้าอาคารไปจนถึงห้องชุด รวมถึงสนใจเทคโนโลยีที่ช่วยดูแลควบคุมงานระบบอาคารเพื่อลดการจัดจ้างบุคคลากร และควบคุมการใช้พลังงานที่ช่วยประหยัดค่าส่วนกลางมากขึ้น รวมถึงการเสริมการบริการที่สามารถใช้ผ่าน Platform Online ได้ เช่น บริการพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่าย / ไม่มีค่าใช้จ่ายผ่าน Application เช่น การจ่ายบิล ,ตรวจเช็คพัสดุ ,จองห้องส่วนกลาง โดยการการให้บริการที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขแบบเร่งด่วนคือ การพูดคุยโต้ตอบทางโทรศัพท์ / Line OA เช่น การแจ้งซ่อม ,การสอบถามปัญหาต่างๆ ส่วนการรับข่าวสารแจ้งเตือนต่างๆ ลูกค้าสามารถเลือกได้จากการรับการแจ้งเตือนผ่านข้อความอัตโนมัติ และตรวจเช็คปัญหาด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่น


ปี 2565 เป็นปีที่จะเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการพัฒนาที่อยู่อาศัย และงานบริการ ที่ให้ความสำคัญกับ 3 Mega-Trend ในเรื่องของสุขอนามัย ความสมดุลในการออกแบบที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต และเทคโนโลยี่ ที่เข้ามามีส่วนในการยกระดับการอยู่อาศัยมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ ต้องปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมและความต้องการของผู้อยู่อาศัยที่เปลี่ยนแปลงไป

31 views

Commentaires


Post: Blog2_Post
bottom of page