top of page

6 บริการต้องมีในคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้

Updated: May 15

Author : ทีมวิจัยและพัฒนางานบริการ


ที่ผ่านมาในคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเลี้ยงสัตว์ได้ จึงไม่อนุญาตให้มีการเลี้ยงสัตว์ในห้องชุด แต่ผู้พักอาศัยก็ยังมีการแอบเลี้ยงกันอยู่ แม้จะมีบทปรับหากฝ่าฝืน ทำให้หลายครั้งเกิดข้อพิพาทกันระหว่างผู้พักอาศัยที่แอบเลี้ยงสัตว์ กับ นิติบุคคล หรือผู้พักอาศัยในโครงการที่ได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่งกลิ่นเหม็น ส่งเสียงดังรบกวน ทำพื้นที่ส่วนกลางสกปรก ทิ้งสัตว์เลี้ยง และปัญหาอีกหลายๆอย่าง


ปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการหลายแห่งให้ความสนใจออกแบบโครงการภายใต้แนวคิดแบบ Pet-Friendly เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การเลี้ยงสัตว์ แบบ “pet humanization” คือ พฤติกรรมที่เจ้าของเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงเสมือนลูก หรือเป็นสมาชิกของครอบครัว โดยมีการคาดการณ์จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่ามูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงของไทยจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 8.4% มาอยู่ที่ 66,748 ล้านบาทในปี 2026 และจากการสำรวจของ LWS พบว่าอาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ในกรุงเทพ และปริมณฑล ก็กำลังมีแนวโน้มการพัฒนาโครงการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งดูได้จากการพัฒนาอาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ที่มียอดเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2561 มีการพัฒนาคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้อยู่ที่ 157 ยูนิต และในปี 2565 อาคารชุดที่พักอาศัยที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้มีจำนวนมากกว่า 5,663 ยูนิต ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตสูงถึง 4,394% ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มผู้เลือกซื้อคอนโดจำนวนหนึ่งก็มีความต้องการอาคารชุดพักอาศัยที่ตอบโจทย์การมีสัตว์เลี้ยงควบคู่กับการพักอาศัยในอาคารชุด ทำให้การพัฒนาอาคารชุดที่มีกฎระเบียบกำหนดชัดเจนว่าสามารถเลี้ยงสัตว์ได้จะกลายเป็นข้อสนับสนุนในการสร้างสังคมที่น่าอยู่ในโครงการมากขึ้นอย่างยั่งยืน

Source : LWS


อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบระหว่างผู้พักอาศัย การพัฒนาอาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ต้องเริ่มจากการสร้างระเบียบ และข้อกำหนด โดยแจ้งให้ผู้ซื้อทราบเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการซื้อขายห้องชุดเสร็จสิ้น เช่น สายพันธุ์สัตว์ที่สามารถเลี้ยงได้ การจำกัดน้ำหนัก การจัดการกลิ่นมูลสัตว์ในห้องชุดที่อาจไปรบกวนการพักอาศัยของเพื่อนบ้าน


นอกเหนือจากการพัฒนาอาคารชุดให้สามารถเลี้ยงสัตว์ได้แล้ว ผู้พัฒนาโครงการก็มีความจำเป็นที่จะต้องนำงานบริการเข้ามารองรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในอาคารชุดก็สำคัญเช่นเดียวกัน จากผลการสำรวจของ LWS พบว่า 97% ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมรับเงื่อนไข/กฎระเบียบ/ข้อบังคับ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำงานบริการเข้ามารองรับผู้พักอาศัยในอาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์ให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ต้องขนสัตว์เลี้ยงเข้า-ออกโครงการบ่อยครั้งเพื่อไปใช้บริการภายนอกโครงการ หากพิจารณาจากผลสำรวจของ วิทยาลัยการจัดการ มหาลัยมหิดล (CMMU) พบว่า คนไทยให้ความสนใจกับสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และมากกว่า 49% เลือกเลี้ยงสัตว์เป็นลูก (Pet Parent) และมีใช้จ่ายเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงมากถึง 14,200 บาทต่อตัวต่อปี สอดคล้องกับผลการวิจัยของ LWS ที่มีผลการสำรวจว่าผู้ตอบแบบสอบถามมีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยอยู่ที่ 1,001-3,000 บาท/เดือน ก็ยิ่งทำให้อาคารชุด และบริการภายในโครงการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงจะเป็นจุดดึงดูดให้คอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้น่าสนใจน่าซื้อมากยิ่งขึ้น


LWS จะขอยกตัวอย่าง 6 บริการที่ควรนำเข้ามารองรับผู้พักอาศัยในโครงการที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ ดังนี้


1. บริการฝากดูแล / พาสัตว์เลี้ยงเดินเล่น : บริการฝากดูแลเป็นบริการที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการอยู่ในสัดส่วน 16% และอยู่ในอันดับที่ 1 ของผลการสำรวจความคิดเห็นเรื่องการเลี้ยงสัตว์ในคอนโดของ LWS อาจด้วยเนื่องจากเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องไปทำงานข้างนอก หรือไปธุระที่ไม่สามารถพาสัตว์เลี้ยงไปด้วยได้ และกว่า 30% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความต้องการพื้นที่สวนสำหรับสัตว์เลี้ยงในโครงการ เพื่อให้สัตว์เลี้ยงได้เดินเล่น และออกกำลังกาย ลดความเครียดจากการอยู่แต่ในห้อง ซึ่งหากเจ้าของไม่สะดวกพาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นเอง ก็ยังสามารถใช้บริการ/พาสัตว์เลี้ยงไปเดินเล่นได้ บริการดังกล่าวมีให้เห็นในต่างประเทศ เช่น Dog Walker หรือในประเทศไทย เช่น Pet backer ที่มีอัตราค่าบริการเริ่มตั้งแต่ 100 บาท ขึ้นไป ซึ่งช่วยลดเวลาสำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่ไม่มีเวลาพาสัตว์เลี้ยงเดินเล่นได้เป็นอย่างดี


2.บริการทำความสะอาดห้องชุดที่มีสัตว์เลี้ยง : เป็นบริการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีให้บริการในคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ โดยอาจมีการให้บริการทำความสะอาดห้อง / ทำความสะอาดอุปกรณ์ เช่น กระบะทรายแมว ซักเบาะรองนอน ฆ่าเชื้อภายในห้องชุด เป็นต้น

3. บริการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยงในห้องชุด : LWS พบว่า 52% จากผู้ตอบแบบสอบถามเลี้ยงแมว ซึ่งเป็นสัดส่วนมากที่สุด รองลงมาคือสุนัขที่ 29% ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ หรืออุปกรณ์ต่างๆ จะออกแบบเฉพาะสัตว์เลี้ยงโดยตรง เช่น ชั้นสำหรับปีน เสาสำหรับฝนเล็บ ตาข่าย/กระจกกันสัตว์เลี้ยงจากตกระเบียง จะเป็นธุรกิจซึ่งมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกันกับคอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้เช่นเดียวกัน ซึ่งในประเทศไทยก็จะมีผู้ให้บริการเช่น Cat walk บริการกล่องแมวติดผนัง และ Wood Always ที่ให้บริการออกแบบคอนโดแมว เสาฝนเล็บ และเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบสำหรับสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ


Product by Wood Always

Source : https://web.facebook.com/woodalways?locale=th_TH


Product by Cat Walk Thailand

Source : https://web.facebook.com/profile.php?id=100063767416939&locale=th_TH


4. ร้านขายอาหารสัตว์และอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง : เนื่องจากอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทุกวัน และผู้ตอบแบบสอบถามต้องการความสะดวกสบาย ไม่ต้องออกไปซื้อทุกครั้งเมื่ออาหารหมดลง

5. บริการสปา / อาบน้ำ / แต่งขนสัตว์เลี้ยง : สัตว์เลี้ยงก็ควรได้รับการผ่อนคลายและการดูแล บ่อยครั้งการอาบน้ำสัตว์เลี้ยงเองเป็นเรื่องที่ยากของเจ้าของ บริการสปา / อาบน้ำ / แต่งขนสัตว์เลี้ยง จะเป็นหนึ่งในบริการที่ทำให้ผู้พักอาศัยเองได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งผู้พัฒนาโครงการเองก็ได้ประโยชน์จากบริการนี้เช่นเดียวกัน เช่น ลดกลิ่น ลดการเกิดโรคติดต่อในสัตว์เลี้ยง

6. บริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพสัตว์เลี้ยง : คอนโดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ควรมีบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของสัตว์เลี้ยง เช่น คลีนิคสัตว์ หรือโรงพยาบาลสัตว์ขนาดเล็กในพื้นที่ เนื่องจากบ่อยครั้งที่สถานที่รักษาสัตว์ภายนอกโครงการเปิดให้บริการไม่เป็นเวลา หากเกิดเหตุฉุกเฉินก็อาจจะทำให้สัตว์เลี้ยงอาจไม่ได้รับบริการที่ทันท่วงที หรือหากภายในโครงการไม่มีคลีนิคสัตว์เลี้ยงอยู่ภายในโครงการ ก็สามารถติดต่อเพื่อสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลสัตว์ / คลีนิคใกล้เคียงในพื้นที่ได้เช่นเดียวกัน หรือผู้พัฒนาโครงการอาจจัดบริการเสริมเช่น บริการรถรับ-ส่งพาสัตว์เลี้ยงไปหาหมอ/คลีนิค เป็นต้น


นอกจากนี้การจัดการสิ่งแวดล้อมในอาคารชุดที่เลี้ยงสัตว์เป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้สัตว์เลี้ยงและผู้อยู่อาศัยสามารถดำเนินชีวิตร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข ผู้พัฒนาโครงการควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆในการออกแบบ และดูแลผลกระทบที่เกิดจากการเลี้ยงสัตว์ในอาคารชุด เช่น

· พื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง: ภายในโครงการควรมีพื้นที่เดินเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ซึ่งควรมีขนาดเพียงพอให้สัตว์เลี้ยงที่อาศัยในโครงการสามารถเดินเล่น หรือเดินออกกำลังกายได้อย่างสะดวก พื้นที่นี้ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยและมีระบบรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันอันตรายจากภัยคุกคามภายนอก เช่น รั้วกั้นสัตว์ภายนอกเข้ามาทำร้ายสัตว์เลี้ยงภายในโครงการ

· ระบบระบายอากาศ : การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงอาจส่งผลให้มีกลิ่นได้ ตัวอาคารเองควรมีระบบระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาภาพอากาศในห้องชุดพักอาศัย และห้องส่วนกลาง

· การจัดการของเสียที่เกิดจากสัตว์เลี้ยง : การเลี้ยงสัตว์อาจส่งผลให้มีขยะเพิ่มขึ้น โครงการควรมีระบบจัดการสิ่งของเสียที่เหมาะสม เช่น ถังขยะที่มีล็อคให้สัตว์เลี้ยงไม่สามารถเข้าถึงได้ มีรอบการจัดเก็บขยะในห้องพักขยะที่ถี่ขึ้น

· การใช้สารพิษในการกำจัดปลวก/แมลง : การใช้สารเคมีในโครงการควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้สร้างความเสี่ยงต่อสัตว์เลี้ยง แนะนำให้ใช้วิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อต้องการความสะอาดและการดูแลสุขาภิบาลในคอนโด

· การควบคุมเสียง : การควบคุมเสียงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อไม่ให้สัตว์เลี้ยงทำเสียงรบกวนผู้อยู่อาศัยอื่น ๆ เช่น การติดตั้งแผ่นซับเสียงในห้องชุด / พื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น

· การศึกษาผู้อยู่อาศัย : ควรมีการสร้างความเข้าใจและการศึกษาผู้อยู่อาศัยเกี่ยวกับความสำคัญของการเลี้ยงสัตว์และกฎระเบียบเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงในอาคารชุด เพื่อให้ทุกคนสามารถร่วมมือกันในการรักษาความสงบสุขและการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงได้


การพัฒนาอาคารชุดที่สามารถเลี้ยงสัตว์ได้ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ให้รองรับกับสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ผู้พัฒนาโครงการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำงานบริการเข้ามารองรับกับสัตว์เลี้ยงในโครงการอีกด้วย ซึ่งงานบริการที่ตอบโจทย์ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในคอนโดนอกจากเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ในโครงการแล้ว ผู้พัฒนาโครงการก็ยังได้รับประโยชน์จากรายได้ค่าบริการเช่นเดียวกัน

42 views

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page