top of page

Work From Home อย่างไรให้มีสุขภาวะที่ดี

คุณพิมพ์ชนก ศรีรัชตระกูล ( WELL AP )

ตั้งแต่ที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ทุกคนคงได้รู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า Work From Homeกันไม่มากก็น้อย เนื่องจากเป็นวิธีปฏิบัติที่บริษัทส่วนใหญ่เลือกใช้เพื่อลดการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้คนทำงานที่ปกติต้องใช้เวลาเดินทางและอยู่ในสำนักงานทั้งวันได้ใช้เวลาอยู่ในบ้านของตัวเองมากกว่าที่เคย การปรับเปลี่ยนพื้นที่และสิ่งแวดล้อมภายในบ้านให้เอื้อต่อการทำงานจึงเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสภาวะแบบไหนจะส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานของเรามากที่สุด


วันนี้เราได้ลองนำเอาแนวทางการออกแบบและปรับแต่งพื้นที่ทำงานบางส่วนจากเกณฑ์ WELL ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบที่ยกระดับสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานอาคาร โดยนำมาเป็นแนวทางในการเลือกและปรับปรุงพื้นที่ทำงานภายในบ้าน เพื่อให้บรรยากาศในการทำงาน หรือ Working Environment ในบ้านมีความเหมาะสม สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและดีต่อสุขภาพในระยะยาวมากขึ้น


เลือกบริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ

บริเวณที่เลือกเป็นมุมทำงานนั้นควรเป็นพื้นที่ที่แสงธรรมชาติสามารถส่องเข้าถึงได้ มีความเข้มของแสงที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการทำงาน ไม่มีแสงจ้าแยงตารบกวน หากแสงธรรมชาตินั้นไม่เพียงพอก็สามารถใช้แสงไฟจากดวงโคมได้ โดยควรเลือกหลอดไฟที่มีความคล้ายคลึงกับแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดความสบายตาในการทำงาน และมีคุณภาพของสีที่ตรงกับความเป็นจริง ไม่ผิดเพี้ยน และต้องทำการจัดตำแหน่งโคมไฟให้เหมาะสม ไม่ทำให้เกิดเงาและแสงสะท้อนบนหน้าจอเนื่องจากอาจทำให้เกิดอาการปวดตา และส่งผลเสียต่อดวงตาในระยะยาวได้ โดยเกณฑ์ WELL ยังระบุด้วยว่า คุณภาพแสงที่ดีจะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานและคุณภาพการนอนหลับให้ดีขึ้นได้อีกด้วย


อากาศต้องถ่ายเทได้อย่างสะดวก มีคุณภาพอากาศที่ดี

ตามเกณฑ์มาตรฐาน WELL ให้ความสำคัญกับความสะอาดของอากาศที่ผู้ใช้งานอาคารจะหายใจเข้าไป โดยมีตัวชี้วัดทั้งปริมาณฝุ่น ปริมาณก๊าซประเภทต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในอากาศ รวมไปถึงอัตราการไหลเวียนของอากาศที่ต้องสามารถทำได้ตามมาตรฐานกำหนด ซึ่งเราสามารถนำเอาแนวคิดเบื้องต้นมาปรับใช้กับพื้นที่ทำงานภายในบ้านได้ โดยมองหามุมทำงานที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรเป็นพื้นที่ปิดที่ตำเป็นต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา เนื่องจากจะทำให้อากาศภายในห้องถ่ายเทไม่สะดวก และอาจทำให้ชื้นจนกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อรา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจต่าง ๆ จนเป็นหวัด ภูมิแพ้ หรือไอเจ็บคอได้ง่าย จึงควรมีการเปิดประตูหน้าต่างระบายอากาศอยู่เสมอๆ หรือทำการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศเพิ่มเติม เพื่อให้บริเวณนั้นมีอากาศที่บริสุทธิ์ ไม่มีฝุ่น หรือสิ่งปนเปื้อนในอากาศที่อาจทำให้เกิดผลกระทบทางลบกับสุขภาพ


อุปกรณ์สำนักงานที่ออกแบบตามหลักสรีระศาสตร์ (Ergonomic Design)

เมื่อต้องนั่งทำงานที่บ้าน ผู้คนส่วนใหญ่ก็มักจะใช้พื้นที่ในห้องนั่งเล่นมาปรับมุมนั่งทำงานเล็ก ๆ โดยใช้เฟอร์นิเจอร์เช่น โต๊ะ เก้าอี้ที่มีอยู่มาประกอบกัน แต่เมื่อนั่งทำงานไปสักครู่ก็มักจะต้องเจอกับอาการปวดเมื่อย คอ บ่า ไหล่ มากกว่าที่เคยเป็นตอนสมัยยังทำงานอยู่ที่ออฟฟิศ นั่นมีสาเหตุมาจากเฟอร์นิเจอร์ภายในบ้านของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อให้ใช้นั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลานานเหมือนกันกับอุปกรณ์สำนักงาน ทำให้ในระยะนี้เรื่องของอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบตามสรีระศาตร์ของมนุษย์ หรือ Ergonomics ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็น Office Syndrome จากการนั่งทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลาย ๆ ชั่วโมง กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงในวงกว้าง


โดยเกณฑ์ WELL ได้มีข้อกำหนดในหัวข้อ Ergonomic Workstation Design หรือการออกแบบพื้นที่ทำงานให้สอดคล้องกับหลักสรีระศาสตร์ ดังนี้

ตำแหน่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรสามารถปรับระดับได้ตามความต้องการของผู้ใช้งานให้ขอบบนของหน้าจอควรอยู่ระดับสายตาพอดีหรือต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย หากใช้คอมพิวเตอร์แบบ Labtop ก็ควรต่อจอมอนิเตอร์แยก และจัดให้มีชุดคีย์บอร์ด, เม้าส์ต่างหาก ผู้ใช้งานจะได้ไม่ต้องก้มลง หรือเกร็งกล้ามเนื้อเพื่อใช้ Trackpad ที่ติดมากับตัวเครื่อง

ความสูงของโต๊ะทำงาน โต๊ะทำงานควรจะปรับระดับได้ตามสรีระของผู้ใช้งาน ทั้งการนั่ง หรือการยืนทำงาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ทำงานขยับร่างกายมากขึ้น ไม่ต้องนั่งอยู่ในท่าเดียวกันเป็นเวลานาน

เก้าอี้ทำงาน เก้าอี้ที่ใช้ทำงานควรมีที่พิงหลัง ที่วางแขน สามารถปรับระดับความสูงได้ตามความเหมาะสม โดยให้ที่วางแขนอยู่ในระนาบเดียวกับขอบโต๊ะ เพื่อให้สามารถรองรับแขนและข้อมือได้ โดยไม่รู้สึกเมื่อยช่วงไหล่


ดูสุขภาพกายแล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย

ปัญหาที่หลายๆ คนพบในระหว่างการทำงานแบบ Work from Home คือการที่ทำงานเพลินจนลืมเวลา และรู้สึกว่ามีพลังในการทำงานน้อยลง เนื่องจากสถานที่ที่ปกติแล้วใช้พักผ่อนหย่อนใจกลับโดนบุกรุกด้วยงานจากที่ทำงานจนเหมือนไม่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตส่วนตัวแบบที่เคย ซึ่งเกณฑ์ WELL นั้นนอกจากจะให้ความสำคัญกับการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมให้ผู้ใช้งานอาคารมีสุขภาพที่ดีแล้ว ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง “จิตใจ” เป็นอย่างมาก โดยกำหนดเป็น 1 ใน 10 หัวข้อหลักที่ต้องปฏิบัติเมื่อยื่นขอรับรองอาคาร เน้นย้ำว่าชีวิตการทำงานที่ดีต้องมี Work Life Balance ไม่ก่อให้เกิดความเครียดโดยไม่จำเป็น มีพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้ที่ทำงานในสำนักงานแยกออกจากบริเวณที่ทำงานอย่างเป็นสัดส่วน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงานที่บ้านได้อย่างง่าย ๆ โดยเลือกพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ทำงานโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เรื่องงานและเรื่องส่วนตัวใช้พื้นที่ทับซ้อนกัน โดยเกณฑ์ WELL แนะนำว่าบริเวณที่ทำงานนั้นควรสามารถมองเห็นต้นไม้ ทิวทัศน์ธรรมชาติได้เพื่อผ่อนคลายสายตาจากการทำงาน ไม่ควรทำงานติดต่อกันเป็นเวลานาน และควรพักงีบเป็นเวลา 30 นาที ในช่วงกลางวัน เพื่อเป็นการรีเฟรชสมองให้ปลอดโปร่ง ไม่จมอยู่กับความเครียดของการทำงานจนมากเกินไป


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกณฑ์ WELL ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อปรับใช้กับพื้นที่ทำงานภายในบ้าน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การทำงานที่บ้านของเรานั้นมีประสิทธิภาพไปพร้อมกับการส่งเสริมสุขภาพที่ดีด้วยในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ก็ต้องอย่าลืมหาจุดที่สมดุลระหว่างการ Work Life Balance ที่บ้านให้เหมาะสมกับตัวเอง ทานอาหารให้ครบทุกมื้อ และหาเวลาออกกำลังกาย ใส่ใจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นเดียวกัน

ดู 0 ครั้ง

Comments


Post: Blog2_Post
bottom of page