top of page

ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่สะสมเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 67 หน่วยและมูลค่าลดลง 47%(YoY) และ 25%(YoY)

Updated: Apr 25

Team : Research and Development

Contact : se.somluck@lpn.co.th ,ug.phailin@lpn.co.th, an.pornthip@lpn.co.th



ที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่สะสมเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 2567 มีจำนวนและมูลค่าลดลง 47%(YoY) และ 25%(YoY) ตามลำดับ ผลจากการเปิดตัวอาคารชุดและบ้านพักอาศัยในระดับราคาไม่เกิน 10 ล้านบาทลดลง ในขณะที่การเปิดตัวบ้านพักอาศัยในกลุ่มพรีเมี่ยมเติบโตขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากปริมาณสินค้าคงเหลือที่เพิ่มขึ้นจากปี 2566 และกำลังซื้อชะลอตัวเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่สถาบันการเงินยังคงเข้มงวดในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อใหม่ เพราะความสามารถในการชำระคืนเงินกู้ลดลงจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นแตะระดับ 90% เทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Products:GDPs)


Source : LWS


โดยในเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ 2567 มีจำนวนโครงการเปิดตัวใหม่ในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ทั้งสิ้น 37 โครงการ จำนวน 6,800 หน่วย ลดลง 47% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 12,930 หน่วย ในระยะเดียวกันของปี 2566  ในขณะที่มูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่อยู่ที่ 35,995 ล้านบาท ลดลง 25% จากมูลค่าเปิดตัวโครงการ 47,877 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขายเฉลี่ย ณ วันเปิดตัวที่ 13%  ลดลงจากอัตราการขายเฉลี่ยที่ 14% ในปี 2566


การเปิดตัวโครงการใหม่สะสมเดือน ม.ค.-ก.พ. ปี 2567 เป็นส่วนของโครงการอาคารชุดพักอาศัย 5 โครงการ คิดเป็นจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ 2,872 หน่วย ลดลง 64%  คิดเป็นมูลค่า 6,323 ล้านบาท ลดลง 64% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 7,997 หน่วย และมูลค่าเปิดตัว 17,580 ล้านบาท ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 21% เพิ่มขึ้นจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 20% ในระยะเดียวกันของปี 2566  โดยที่ราคาขายเฉลี่ยของอาคารชุดพักอาศัย ในช่วงปี 2567 อยู่ที่ 2.20 ล้านบาทต่อหน่วย คงที่จากราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 2.20 ล้านบาท ในปี 2566

Source : LWS


ในส่วนของการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทจำนวน 21 โครงการ จำนวน 3,234 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 16,741 ล้านบาท ลดลง 24% และ 7% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 ที่มีจำนวนหน่วยเปิดตัว 4,241 หน่วยและมูลค่า 17,944 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวโครงการที่ 8%  เพิ่มขึ้นจากอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวที่ 5% ของระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีราคาขายเฉลี่ยต่อหน่วยที่ 5.18 ล้านบาทต่อหน่วยในช่วงปี 2567 เพิ่มขึ้นจากราคาขายเฉลี่ยที่ 4.23 ล้านบาทต่อหน่วย ในช่วงปี 2566

Source : LWS


และเป็นการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยที่ระดับราคาเกิน 10 ล้านบาท จำนวน 12 โครงการ จำนวน 694 หน่วย เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับจำนวนหน่วยเปิดตัว 692 หน่วยในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยมีมูลค่าการเปิดตัวโครงการใหม่ของปี 2567 ของบ้านพักอาศัยระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทที่ 12,932 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 5% จากมูลค่าการเปิดตัวโครงการที่ 11,963 ล้านบาทในปี 2566 มีอัตราการขาย ณ วันเปิดตัวเฉลี่ยที่ 8% เท่ากับอัตราการขายเฉลี่ยที่ 8% ในระยะเดียวกันของปี 2566 โดยที่ระดับราคาขายของบ้านระดับราคาเกิน 10 ล้านบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 18.6 ล้านบาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากราคาขายในปี 2566 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.9 ล้านบาทต่อหน่วย

(หมายเหตุ : มี 1 โครงการที่มีทั้งโครงการบ้านพักอาศัยระดับราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาทและบ้านพักอาศัยราคามากกว่า 10 ล้านบาท อยู่ในโครงการเดียวกัน ทำให้มีการนับจำนวนโครงการซ้ำ)  

Source : LWS


ในขณะที่ผลการดำเนินงานปี 2566 ของ 39 บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า รายได้และกำไร ปี 2566 ของ 39 บริษัทอสังหาฯ ลดลง 2.25% และ 15.23% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยมีมูลค่ารวม 326,722.43 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 37,653.10 ล้านบาท เมื่อเทียบกับรายได้รวมและกำไรสุทธิ ณ สิ้นปี 2565 ที่มีมูลค่ารวม 334,267.35 ล้านบาท และกำไรสุทธิรวม 44,421.21 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 ตามลำดับ มีความสามารถในการทำกำไรเฉลี่ยของทั้ง 39 บริษัทอยู่ที่ 11.52% ณ สิ้นปี 2566 ลดลงจากความสามารถในการทำกำไรที่ 13.28% ในปี 2565


รายได้รวมของ 10 บริษัทที่มีรายได้สูงสุด อยู่ที่ 247,554.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75.76% ของรายได้รวมทั้ง 39 บริษัท ขณะที่กำไรสุทธิของบริษัท 10 อันดับแรกที่มีกำไรสูงสุดมีมูลค่ารวม 38,348.30 ล้านบาท สูงกว่ากำไรสุทธิรวมของ 39 บริษัท เนื่องจากมีบริษัทขาดทุนสุทธิทั้งสิ้น 13 บริษัทจากทั้งหมด 39 บริษัท


ในขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าคงเหลือ รวมกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอสังหาฯ ทั้ง 39 บริษัท ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 666,526.73 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.93% จากมูลค่า 600,548.76 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2565 แสดงถึงสถานการณ์ที่สินค้ายังคงอยู่ในตลาดมีจำนวนเพิ่มขึ้น


สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาสแรก นอกจากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอตัว  ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยระดับสูงที่  2.50% กระทบต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและ ต้นทุนการกู้เงินของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเข้มงวดต่อการอนุมัติสินเชื่อ มีอัตราปฏิเสธสินเชื่ออยู่ที่ 69% ภาระหนี้ครัวเรือนในเดือน ก.พ. อยู่ที่ระดับ  91.4% เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. กระทบต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัย รวมถึงอัตราเงินเฟ้อลดลงในเดือน ก.พ. ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อยู่ที่ -0.77% ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ยังมีปัจจัยส่งเสริมภาคอสังหาริมทรัพย์อย่าง เงินออมในระบบยังคงมีสูงที่ 70% ของ GDP  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทรงตัวที่ระดับเกิน 54.2 อัตราการว่างงานต่ำกว่า 1% ผลจากความต้องการแรงงานในภาคการท่องเที่ยวและภาค การผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำลังซื้อมีแนวโน้มฟื้นตัวมากขึ้น

64 views
Post: Blog2_Post
bottom of page